กรุงเทพฯ 1 ธ.ค. – กยท.จับมือ กฟผ.หนุนชาวสวนยางปลูกไม้โตเร็วระหว่างรอต้นยางปลูกใหม่โต เพื่อตัดขายส่งให้โรงไฟฟ้าชีวมวล นำร่องจังหวัดบึงกาฬ
นายธีรวัฒน์ เดชทองคำ รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ และนายสหรัฐบุญ โพธิภักดี รองผู้ว่าการ พลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ กยท.และ กฟผ.ในโครงการจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพาราและส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ.ตามโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐวิสาหกิจ โดยนำร่องจังหวัดบึงกาฬ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายธีรวัฒน์ กล่าวว่า กยท.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จะจัดหาต้นกล้า เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนยางปลูกไม้โตเร็ว 5 ชนิด ได้แก่ กระถินเทพณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สนประดิษฐ์พัทธ์ และยูคาลิปตัส ให้กับชาวสวนยางปลูกในสวนปลูกแทนและในพื้นที่ของเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ควบคู่ไปกับการปลูกต้นยางใหม่ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ 600-700 ราย พื้นที่ปลูกเฉลี่ยรายละ 10 ไร่ พื้นที่รวมประมาณ 6,500 ไร่ ไม้โตเร็วเหล่านี้ทาง กฟผ.จะรับซื้อเพื่อใช้ป้อนเป็นเชื้อเพลิงก้อนพลังงานอัดเม็ดหรือ Wood Pellet สำหรับป้อนโรงไฟฟ้าตามโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยรับซื้อราคาเฉลี่ยไร่ละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้ระหว่างต้นยางพาราที่ปลูกใหม่โตพร้อมที่จะกรีดประมาณ 6 ปีเศษ เกษตรกรมีรายได้เสริมโดยตัดขายได้ 2 รอบแรกประมาณ 3-4 ปี และรอบที่ 2 ปีที่ 6-7 ซึ่งพอดีกับการที่ต้นยางใหม่พร้อมกรีดน้ำยาง
นายสหรัฐ กล่าวว่า ไม้โตเร็วทั้ง 5 ชนิดที่ส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางปลูกนำร่องที่จังหวัดบึงกาฬจะพร้อมป้อนให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลตามโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐวิสาหกิจในจังหวัดบึงกาฬที่มีกำลังผลิตขนาด 9 เมกะวัตต์ 1โรง ซึ่งโรงไฟฟ้าจะก่อสร้างเสร็จปี 2563 ไม้โตเร็วเหล่านี้จะเริ่มป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงตั้งแต่ต้นปี 2564 ด้วยปริมาณวันละ 300 ตัน หรือปีละ 100,000 ตัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งจากการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กและการได้ขายไม้โตเร็วเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าชีวมวล โครงการนี้ยังช่วยแสดงความชัดเจนของ กฟผ.ว่าไม่ได้แย่งชีวมวลกับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เอกชนลงทุน โครงการจัดหาวัตถุดิบจากเศษไม้ยางพาราและส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็ว เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวลของ กฟผ.นี้เพิ่งการถือเป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งการจะขยายไปพื้นที่อื่นจะเป็นไปตามการพิจารณาของกยท. – สำนักข่าวไทย