ร.ร.สุโกศล 27 พ.ย. – สนข.เดินหน้าศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของเออีซี หวังลดภาระงบประมาณค่าบำรุงรักษาทาง คาดชัดเจนกลางปี 61
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลาง การบริการและการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีการใช้ทางหลวงอาเซียนเดินทางมากขึ้น ปริมาณจราจรบริเวณจุดผ่านแดนของไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทางหลวงเกิดความเสียหายทรุดโทรมและต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากบำรุงรักษาทางและเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชน
ทั้งนี้ ปริมาณจราจรเข้าออกประเทศไทยทั้งรถไทยและต่างชาติรวมกว่า 14 ล้านเที่ยวต่อปี โดยประเภทรถยนต์ 4 ล้อ สูงสุดถึงร้อยละ 54 รองลงมารถจักรยานยนต์ร้อยละ 32 ขณะที่ปริมาณรถยนต์ 4 ล้อ ของชาวต่างชาติที่เข้าไทยจากผ่านจุดผ่านแดนประเทศ มาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา รวม 28 ผ่านแดน ในปี 2560 มีจำนวน 2,168,000 เที่ยว ระยะทางเฉลี่ย 48 กิโลเมตร สนข.จึงศึกษาการจัดเก็บค่าผ่านทางรองรับการขนส่งของเออีซี โดยมุ่งไปที่รถยนต์ 4 ล้อ (ต่างชาติ) เนื่องจากเป็นรถที่มีปริมาณการจราจรขาเข้าประเทศไทยมากกว่าประเภทอื่น ๆ โดยศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำยานพาหนะเข้าประเทศและค่าใช้ทางกับยานพาหนะต่างประเทศ เพื่อลดภาระงบประมาณค่าบำรุงรักษาทาง รวมทั้งสร้างฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตามกำกับดูแลยานพาหนะต่างประเทศ เพื่อภารกิจความมั่นคงและสนับสนุนการวางแผนด้านบริการการท่องเที่ยวให้ตรงต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งจะมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (modal shift) จากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำระยะยาว
สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้นกำหนดเแผนดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรก (1-3 ปี) เก็บค่าธรรมเนียมผ่านแดนรถยนต์นั่ง 4 ล้อต่างชาติ ด้วยระบบ RFIDและบัตรเติมเงิน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบ ยานพาหนะเข้า-ออกด่านชายแดนทั้ง 28 แห่งได้ ระยะกลาง (4-7 ปี) เพิ่มขีดความสามารถการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ทาง โดยติดตั้งระบบจีพีเอส ซึ่งสามารถติดตามยานพาหนะต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยได้ โดยสามารถระบุตำแหน่ง เส้นทาง ความเร็ว ของยานพาหนะได้ และระยะยาว (8-10 ปี) จะพิจารณาขอบเขตการเก็บค่าผ่านทางฯ ไปยังรถยนต์ประเภทอื่นและพื้นที่ด่านชายแดนถาวรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือมีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องตามสภาพเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐด้วย ทั้งนี้ ผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางอาจให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างติดตั้งระบบ ดำเนินการและบำรุงรักษา ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะศึกษาเสร็จปี 2560 ก่อนเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้งและมีการแก้ระเบียบกฎหมาย เพื่อรองรับแนวทางดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนกลางปี 2561 หลังจากนั้นจะประกาศใช้และเริ่มจัดเก็บปลายปี 2561
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนบางประเทศเริ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าประเทศและการใช้ทาง ล่าสุดมาเลเซียและสิงคโปร์เริ่มนำระบบใบอนุญาตเข้าประเทศ Vehicle Entry Permit หรือ VEP มาใช้ประกอบกับการเรียกเก็บค่าใช้ถนน หรือ Road Charge กับรถต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศของตนและในอนาคตมาเลเซียจะนำระบบ VEP มาใช้บริเวณด่านพรมแดนทั้ง 8 แห่ง ระหว่างไทยกับมาเลเซีย และจะนำไปใช้กับด่านพรมแดนระหว่างมาเลเซีย-บรูไน และมาเลเซีย-อินโดนีเซีย ตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย