กรุงเทพฯ 3 พ.ค. – “ศุภชัย” ระบุสงครามการค้าไม่ใช่เรื่องใหม่ แนะประเทศเอเชียรวมตัวเจรจาการค้า ให้ WTO เป็นตัวกลาง จัด “Trump Round” ดีกว่าแยกเจรจารายประเทศ ชี้ไทยเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปต่อได้
ศาสตราจารย์พิเศษ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ New World Order : รับมือระเบียบโลกใหม่ ภายในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” เนื่องในโอกาส 150 ปี กระทรวงการคลัง โดยระบุว่าโลกที่มีมหาอำนาจใหญ่ ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ทำให้เกิดหลายขั้วอำนาจที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนบนโลกใบนี้
สำหรับสงครามการค้าที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นมานานแล้ว หลังจากที่จีนเริ่มมีอำนาจสหรัฐก็มีความพยายามปิดกั้นจีน อย่างในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีการกีดกันจีนไม่ให้ทำเขตการค้าเสรี (FTA) ส่วนในสมัยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีการออกกฎหมายเพื่อลดเงินเฟ้อแต่ในกฎหมายแฝงไปด้วยการขึ้นภาษีอุดหนุนน และกีดกันจีนเช่นกัน ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ทำให้นโยบายการกีดกันจีนชัดเจนขึ้น เพราะรู้แล้วว่าสหรัฐไม่ใช่เบอร์ 1 ของโลกอีกต่อไป
ขณะที่จีนก็มีการพัฒนาตนเองอย่างก้าวกระโดด เช่น Deepseek ที่เป็น AI ประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ สะเทือนวงการ AI โลก หรือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ที่มี 140 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้จีนสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการค้ากับทั่วโลก และจีนเองยังลดการพึ่งพาการค้าของโลกอีกด้วย
การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้สหรัฐพยายามลดอำนาจของจีน และกังวลว่าสงครามการค้าอาจจะนำไปสู่สงครามจริงๆ ในอนาคต
สำหรับประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 มหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐ ประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ครั้งนี้มีการรักษาระยะห่างระหว่างทั้งสองได้ดีพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทำให้อุณหภูมิของสงครามการค้าร้อนไปกว่านี้ โดยมองว่าจากที่แต่ละประเทศจะแยกเจรจากับจีนและสหรัฐ ควรให้องค์การการค้าโลก (WTO) ตัวกลางในการประสานการเจรจา โดยอาจเปิดรอบการเจรจาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจใช้ชื่อ “Trump Round” เพื่อเจรจาเรื่องมาตรการภาษี (tariff)
ก่อนหน้านี้ยังมีประเด็นที่จีนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในแถบเอเชีย รวมถึงไทย เพื่อหลบเลี่ยงภาษี (Circumvention) ทำให้เสียภาษีน้อยลง โดยสหรัฐมีความพยายามที่จะให้ประเทศเหล่านี้ไม่ให้จีนตั้งฐานการผลิต รวมถึงประเทศต่างๆ ที่เป็น Emerging Market ( EM) หรือตลาดเกิดใหม่ ก็ควรรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหานี้
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว รัฐบาลยังจำเป็นต้องคำนึงถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การศึกษา และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มีการพูดถึงความพอเพียง เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยเก่ามากแล้ว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ให้ประคองตัวอยู่ได้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงในขณะนี้ โดยไม่ต้องมุ่งลงทุนแต่โครงการขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ควรลงทุนเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวได้.-516-สำนักข่าวไทย