ข้าวยีสต์แดง ทำจากอะไร มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างไร ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ดร.ประมวล ทรายทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ข้าวยีสต์แดง หรือ Chinese Red Rice หรือบางครั้งอาจเรียกว่า Red Yeast Rice เป็นกระบวนการหมักข้าวแบบแห้ง ที่เรียกว่า (solid-state fermentation)
กระบวนการหมักแบบแห้งมีการใช้เชื้อราสายพันธุ์หนึ่ง คือเชื้อรา Monascus โดยใช้เวลาหมักประมาณ 15 วัน ก็จะทำให้เมล็ดข้าวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดงทั้งเมล็ด จึงเรียกตามภาษาจีนที่เป็นต้นกำเนิดของข้าวยีสต์แดงว่า อั่งคัก (ang-kak, red fermented rice, red yeast rice ) หมายถึง ข้าวทั้งเมล็ดมีสีแดง
ข้าวยีสต์แดง กินอย่างไร ?
ข้าวยีสต์แดง ไม่ใช่ข้าวที่สามารถนำมาหุงเหมือนข้าวสารทั่วไป เพราะตัวเชื้อรา Monascus เข้าไปย่อยแป้งในเมล็ดข้าวออกมาเป็นผง แต่ยังมีการจับตัวเป็นเมล็ด แต่เมื่อนำมาหุงหรือสัมผัสน้ำก็จะละลายออกมาหมด
วิธีการนำข้าวยีสต์แดงมาใช้ มีทั้งนำมาเป็นวัตถุเจือปนอาหาร หรือนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารบางอย่าง ที่เห็นกันบ่อย ๆ ก็คือซอสเย็นตาโฟ เต้าหู้ยี้
ประโยชน์ของข้าวยีสต์แดง คืออะไร ?
ในกระบวนการหมักให้ได้ข้าวยีสต์แดง มีการสร้างสารบางชนิดที่มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารในกลุ่มโมนาโคลินเค (Monacolin K)
สารโมนาโคลินมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชนิดหนึ่ง ส่งผลให้ปริมาณของคอเลสเตอรอลลดลง ความดันเลือดต่ำลง ไขมันในเลือดต่ำลงด้วย และการทำงานของหัวใจดีขึ้น
นอกจากนี้ ในข้าวยีสต์แดงยังพบสารสำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น สารกาบา (GABA : Gamma-aminobutyric Acid) มีผลต่อสุขภาพสมองและความจำ รวมถึงมีวิตามินบี สารต้านอนุมูลอิสระ และสารปฏิชีวนะบางชนิดที่เชื้อราตัวนี้สามารถผลิตได้
ผลิตภัณฑ์ข้าวยีสต์แดง มีอะไรบ้าง ?
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ข้าวยีสต์แดง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ
กลุ่ม 1 : ผลิตภัณฑ์ข้าวยีสต์แดง อยู่ในกลุ่มเครื่องเทศ (คงรูปเมล็ดข้าวสีแดง) เป็นส่วนผสมในอาหาร
กลุ่ม 2 : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อยู่ในรูปแคปซูล หรืออัดเม็ด
นอกจากนี้ มีการนำข้าวยีสต์แดงมาประยุกต์ใช้ในเครื่องสำอางและอาหารสัตว์
ข้าวยีสต์แดง มีข้อกำหนด และข้อพึงระวัง ?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารข้าวยีสต์แดงว่าจะต้องมีปริมาณสารโมนาโคลินไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อวัน และสารปนเปื้อนกลุ่มซิทรินิน (Citrinin) ไม่เกิน 10.7 ไมโครกรัม และบนฉลากต้องแสดงคำเตือน ดังนี้
- ห้ามใช้เกินขนาดที่กำหนด
- ห้ามใช้ในหญิงให้นมบุตร
- ห้ามใช้ร่วมกับยาลดไขมันในเลือด ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาอาการซึมเศร้า และยาต้านไวรัสเอดส์
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับ หรือโรคไต
- ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนกิน และห้ามกินติดต่อกันนานเกิน 4 เดือน (16 สัปดาห์)
- หยุดกินทันทีหากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด
คำแนะนำ ก่อนกินข้าวยีสต์แดง
ใครก็ตามที่ต้องการใช้ข้าวยีสต์แดงด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ มีข้อควรพิจารณา
1. ปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงหรือไม่ ?
2. ตรวจร่างกายและปรึกษาแพทย์ก่อนกิน หรือยัง ?
3. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
4. กินข้าวยีสต์แดงไม่ได้หมายความว่าจะมีสุขภาพดีเสมอไป อาจได้รับสารพิษจากกระบวนการผลิตข้าวยีสต์แดง
เลือกกินอาหารที่หลากหลาย ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : ข้าวยีสต์แดง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter