กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศดำเนินมาตรการเชิงรุกดูแลค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด สนค.เผยราคาสินค้าเกษตรกรหลายประเภทต่ำลงกว่าปีที่แล้ว
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายพิชัย ได้สั่งการเรื่องดังกล่าว รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นผ่านโครงการ “ธงฟ้าราคาประหยัด” ให้เข้าถึงชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาประหยัดและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังให้ สนค.ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคาอย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่าสินค้าและบริการ มีการเปลี่ยนแปลงราคาที่แตกต่างกันไป โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน วัตถุดิบ ปริมาณความต้องการสินค้า หรือภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบ
โดยสินค้าสำคัญหลายรายการมีราคาปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่น ไข่ไก่เบอร์ 2 ที่ปัจจุบันมีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อฟอง จากที่สูงถึง 4.50 บาทต่อฟองในบางช่วงปี 2567 มะนาวราคาปรับลดลงเหลือต่ำกว่าลูกละ 4 บาท จากราคาสูงกว่าลูกละ 5 บาทในปีที่ผ่านมา ราคา ใบกะเพราและพริกขี้หนูแดง ในช่วงนี้ราคาประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม และ 50 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ จากราคาที่สูงถึง 70 บาทต่อกิโลกรัมในปีที่ผ่านมา หัวหอมแดงราคา 55 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาประมาณ 100 บาทในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ มะละกอดิบ พริกชี้ฟ้าแห้ง แตงกวา และเห็ดฟาง ราคามีแนวโน้มลดลงเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังสามารถเลือกซื้อสินค้าจำเป็นในราคาที่ถูกกว่าเดิม


สำหรับสินค้าจำเป็นหลายรายการมีราคาคงที่หรือเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เช่น นมข้นหวาน ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิตักขาย 15 กิโลกรัม ข้าวสารเหนียว 15 กิโลกรัม น้ำดื่มบริสุทธิ์ เกลือป่น ผงชูรส และแชมพู
“บทบาทของผู้ผลิตกำลังเปลี่ยนไปสู่การเป็นผู้ขายโดยตรงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ค้ารายใหญ่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น ส่งผลให้มีการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าดึงดูดลูกค้า ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าในราคาประหยัดได้มากขึ้น แม้ว่าสินค้าหลายรายการจะมีราคาคงที่หรือลดลง แต่ยังมีสินค้าบางชนิดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น” นายพูนพงษ์ กล่าว
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตหลายปัจจัยที่เริ่มลดลง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับตัวลง และมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพของภาครัฐ ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการควบคุมต้นทุนสินค้าให้เหมาะสม นอกจากนี้ เมื่อรวมกับการกำกับดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดของกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้มากขึ้น. -511- สำนักข่าวไทย