บึงกาฬ 15 มี.ค.-“รมว. นฤมล” พบชาวสวนยาง จ.บึงกาฬ เร่งแก้ปัญหาโรคใบร่วง พร้อมประกาศ Kick off “โครงการโฉนดต้นยาง” 1 เม.ย.นี้ ตั้งเป้าแจกครบ 11.17 ล้านไร่ภายใน 1 ปี
มี.ค.ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ อ.เซกา จ.บึงกาฬ เพื่อร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมหลักสูตร การส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ เพื่อฟื้นฟูสวนยางพาราที่เป็นโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum saimense(ใบร่วงชนิดใหม่)
สำหรับจังหวัดบึงกาฬ มีรายได้กว่า 60% มาจากยางพารา ราคายางพาราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้เน้นย้ำให้การยางแห่งประเทศไทยทำงานอย่างเข้มแข็งต่อไป รวมถึงทีมพญานาคราช ก็จะออกปราบปรามยางเถื่อนต่อเนื่อง เราจะไม่ยอมให้ยางพาราจากประเทศอื่นมาเป็นปัจจัยทำให้ราคายางพาราในประเทศไทยตกต่ำลง หากประชาชนพบการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน ขอให้แจ้งทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯและเราจะกวาดล้างทันที
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องการให้ราคาพืชผลทางเกษตรชนิดอื่นๆ มีการปรับขึ้นราคาขึ้นเช่นเดียวกับ ยางพารา ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม แต่ที่เราทำให้ราคายางพาราขึ้นสำเร็จก่อน เนื่องจากยางพาราอยู่ในการดูแลกำกับของกระทรวงเกษตรฯ เพราะเรามีการยางแห่งประเทศไทยอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ จึงทำให้หน่วยงานอื่น ๆ ของเราสามารถบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกันได้อย่างรวดเร็ว และเบ็ดเสร็จ แต่สำหรับราคาข้าว ถึงเราจะมีกรมการข้าว แต่การกำหนดนโยบายตลาด และราคา เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้กำกับดูแล เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ก็มีคณะกรรมการนโยบายมัน อยู่กับกระทรวงพาณิชย์ ส่วนปาล์มน้ำมันก็เป็นของกระทรวงพลังงาน อ้อยก็ไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งใจจริงเราอยากจะดึงทุกอย่างมาดูแลแบบเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้
ส่วนของยางพารา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้เดินหน้าขับเคลื่อนปฎิบัติตามกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้เขารู้ว่า เราไม่ได้ไปบุกรุกป่า ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 11.17 ล้านไร่ เหลืออีก 4 ล้านไร่ ที่ยังไปเป็นที่ดินทับซ้อน โดยเราได้มีการพูดคุยกัน และจะมีการจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับชาวสวนยางพารา เพื่อให้เขามีเอกสารสิทธิที่ถูกต้อง สามารถครอบครองพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 11.17 ล้านไร่อยู่แล้ว เราจะออกโฉนดต้นยางสร้างมูลค่าให้กับต้นยางพาราที่ปลูกอยู่บนที่ดินของตนเอง ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.และนำไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยจะ Kick off เปิดโครงการในวันที่ 1 เม.ย.นี้
กระทรวงเกษตรฯต้องการให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สวนยางพาราประมาณ 27,000 บาทต่อไร่ ชาวสวนยางก็จะมีเงินไปพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองได้ เราจึงตั้งเป้าตั้งเป้าที่จะออกโฉนดต้นยางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และในอนาคตชาวสวนยางยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพิ่มเป็นรายได้เสริมด้วย
โรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletotrichum saimense ในต้นยางพารา ศ.ดร.นฤมล ได้กำชับการยางแห่งประเทศไทย ให้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคใบจุดกลมจากเชื้อ Colletatrichum siamense หรือโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา และศึกษาหาแนวทางการแก้ไขทั้งการเฝ้าระวัง การยับยั้งปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร อันก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยางและพืชอื่นๆ ต่อไป
กระทรวงเกษตรฯ ได้รณรงค์การใช้น้ำหมักปลาหมอคางดำ เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ที่กำลังระบาดในภาคอีสาน แต่ในจังหวัดบึงกาฬยังระบาดมากนัก เราต้องรีบมาป้องกัน และวันนี้ได้มอบน้ำหมักเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางไปใช้ป้องกัน ส่วนเรื่องที่ดิน สปก. ตนได้สานต่อนโยบายที่ทำไว้ตั้งแต่สมัย ร.อ.ธรรมนัส ที่ได้เร่งรัดให้มีการแจกโฉนดเพื่อการเกษตร ทำให้วันนี้มีชาวบ้านมารับเอกสารสิทธิ์ 500 คน โดยปี 68 เราตั้งเป้าจะทำให้ครบ 22 ล้านไร่
เมื่อถามถึงปัญหาข้าวนาปรังที่ยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือชัดเจน กระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการอย่างไรในเบื้องต้น ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า เราได้ดูแลปัจจัยการผลิต เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ส่วนนโยบายข้าวนาปรังและนาปี จะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอกระทรวงพาณิชย์ นำเสนอก่อน แต่เบื้องต้นยังไม่มีการพูดคุยอะไรมาที่กระทรวงเกษตรฯ
ทั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล และนายอิทธิ ได้ร่วมกันมอบโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 500 ราย พร้อมปัจจัยการผลิต อาทิ น้ำหมักปลาหมอคางดำ 1,000 ลิตร จำนวน 33 ราย ,ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่าง, หน่อพันธุ์กล้วยหอมทอง, กล้วยน้ำว้า และพันธุ์มะละกอ รวมถึงพันธุ์ปลาจำนวน 200 ถุง และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียวจำนวน 130 ตัน แก่ตัวแทนเกษตรกรผู้มาร่วมงานด้วย.-512.-สำนักข่าวไทย