กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้นโยบาย Tariff รอบใหม่ สร้างความโกลาหลการค้าโลก ต่อรองให้สหรัฐได้ประโยชน์มากที่สุด หวั่นเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ย เสนอไทยเตรียมรับมือ เจรจาเปิดตลาดให้ธุรกิจสหรัฐมากขึ้น ลดได้ดุลการค้า
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า นโยบายทรัมป์ 2.0 จะยังคงใช้ภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐฯ ซึ่งเราจะได้เห็นสหรัฐฯ มีการใช้นโยบายภาษีนำเข้าเป็นเครื่องมือในการเจรจา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการเมืองและความมั่นคง ในประเด็นเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองและปัญหายาเสพติด รวมถึงความต้องการขยายดินแดนและอิทธิพลไปนอกสหรัฐฯ อาทิ คลองปานามา กรีนแลนด์ และแคนาดา
ในแนวคิดของรัฐบาล ทรัมป์ วาระแรก ได้มีการขึ้นภาษีนำเข้า โดยเฉพาะจากจีน และมีการเปลี่ยนสนธิสัญญา ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA มาเป็นข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา โดยสงครามการค้ามีผลลบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ น้อยกว่าประเทศอื่นที่ค้าขายกับสหรัฐฯสะท้อนจากแนวคิดที่นาย Robert Lightizer (โรเบิร์ต ไลท์ไทเซอร์) ซึ่งเป็นมันสมองของการวางกลยุทธ์สงครามการค้ารอบแรก ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรจะมองจีนเป็นคู่แข่งอันดับ 1 ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง เนื่องจากการที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมาก ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับสหรัฐฯในระยะยาว เพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ จึงต้องการบรรลุเป้าการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจีน และลดการขาดดุลการค้า
นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังต้องการให้มีการสร้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ และยังมีแนวคิดที่ว่า แม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ได้มีการเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ
นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้นการสร้างความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจ และการทหาร ให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรอง ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดังนั้นกลยุทธ์ของไทยในการรับมือคงต้องเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯมากขึ้น หรือเพิ่มการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าเกษตร เทคโนโลยี เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งทางการไทยอาจต้องคิดเรื่องการเจรจา รวมถึงอาจต้องระมัดระวังในกลุ่มธุรกิจที่รับจ้างผลิตให้ประเทศจีน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้ใจสนแล้วว่าธุรกิจนั้น “Made in ประเทศใด” แต่สนใจว่า “Made by ใคร”
สำหรับสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบคือรถยนต์ คอมพิวเตอร์ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เนื่องจากสหรัฐฯต้องการให้สินค้าเหล่ามีการผลิตในประเทศ เพราะส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศ ขณะเดียวกันสินค้าไม่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มที่ไม่ได้กระทบการจ้างงาน ได้แก่ ยางล้อ สินค้ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการผลิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผลกระทบจากสงครามการค้าขยายวงกว้าง เฟดอาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่ม จากที่คาดว่าจะลดลง 2 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ก็มองว่าจะยังไม่ส่งผ่านสู่เงินเฟ้อของไทย
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าหากสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน 60% อาจส่งผลกระทบให้ GDP ไทยลดลง 0.5% ภาคการส่งออกจะโต 2.5% เนื่องจากมีการเร่งส่งออกไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา และค่าเงินบาทอ่อนลงเหลือ 35 บาทต่อดอลล่าร์ โดยสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเร่งทำคือเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในประเทศและแก้ไขปัญหาในประเทศให้ได้
“นโยบายทรัมป์ 2.0 จะเน้น การสร้างความมั่นคง ทางด้านเศรษฐกิจ และการทหาร ให้กับสหรัฐฯ เป็นหลัก เราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่สหรัฐฯ จะใช้ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรอง ให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อย่างมากที่สุด ” นายบุรินทร์ กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย