กรุงเทพฯ 3 ก.พ. – นักเศรษฐศาสตร์ เตือนภาครัฐ-เอกชน รับมือผลกระแทกสหรัฐขึ้นภาษี โดยไทยอาจเป็นเฟสต่อไปที่สหรัฐจะขึ้นภาษี แต่ผลพวงในเฟสแรก กระทบส่งออก และสินค้าจีนอาจทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น
หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก และ10% สำหรับสินค้าจากจีน มีผล 4 ก.พ.68 นักวิเคราะห์ต่างมองว่าจะกระทบการค้าโลก การส่งออก ต่อห่วงโซ่การผลิตของอีกหลายประเทศ และส่งผลหุ้นเอเชียและหุ้นไทยในวันนี้ดิ่งลง ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าา ผลกระทบจากสงครามการค้า ในครั้งนี้รุนแรงกว่าในสมัยแรกของทรัมป์ เพราะระบบเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นดี และสหรัฐฯ ที่เป็นฟันเฟือนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปขัดกับระบบของโลก ก็ยิ่งเกิดผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้ง ทรัมป์ ยังนำเรื่องภูมิรัฐศาสตร์มาผูกพันกับนโยบายการค้า ก็ยิ่งทำให้หากจุดสิ้นสุดได้ยาก หากโฟกัสเฉพาะประเทศไทย อาจไม่ใช่เฟสแรกที่ทรัมป์จะจัดการ แต่อาจเป็นรอบต่อไป เพราะไทยอยู่ในกลุ่มที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการขึ้นภาษี อันดับแรก คือ สินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐฯ จะลดลงและแข่งขันได้ยาก รวมทั้งยังมีมาตรการกดดันให้เงินลงทุนไหลกลับไปยังสหรัฐฯ หรือประเทศที่ถูกสหรัฐฯโจมตีน้อยกว่าไทย ส่งผลให้เงินลงทุนเข้ามาในไทยลดลง บางบริษัทอาจย้านฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐฯ หรือไปยังประเทศอื่น ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นเวียดนามหรือบางประเทศในละตินอเมริกาที่อาจจะถูกสหรัฐฯ โจมตีน้อยกว่าไทย
“การที่ไทยโดนสหรัฐขึ้นภาษีในเฟส ที่ 2 หรือ 3 ก็จะได้รับแรงกระแทกจากจากประเทศที่ถูกขึ้นภาษีสูงในเฟสแรก เช่น มีสินค้าจากจีนทะลักเข้าไทยเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวจากจีนน้อยลง เป็นต้น ทำให้เป็นแรงเสริมซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ย่ำแย่ลง ภาคเอกชน ต้องเตรียมรับมือ โดยการหาพาร์ทเนอร์ในสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งที่สามารถจัดการในเรื่องการนำเข้าหรือส่งออกให้กับเราได้ การหาตลาดเสริม หรือการเปลี่ยนเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุด หรืออยู่ในซัพพลายเชนประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐฯจัดการ เช่น ประเทศในยุโรป หรือพันธมิตรสหรัฐฯ ก็เป็นอีกแนวทางที่ลดผลกระทบได้ในบางส่วน” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว
ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ในส่วนของรัฐบาลต้องวางตัวให้เป็นกลางให้มากที่สุด ไม่แสดงท่าทีสนิทสนมหรือทำการค้ากับประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ และปรับปรุงการดำเนินงานภายในประเทศให้เป็นสากลมากที่สุด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันหรือลดการนำเรื่องเหล่านี้มาเป็นอ้างในการกีดกันการค้าให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งการหาตลาดใหม่ และมาตรการฉุกเฉินในการกระตุ้นเศรษฐกิจหากสงครามการค้ามีความรุนแรง. -511-สำนักข่าวไทย