ทำเนียบ 31 ม.ค.-รมว.ต่างประเทศ เผยยังไม่สามารถยืนยันสถานะอีก 1 ตัวประกันไทยในกาซาได้ แต่ขอให้มั่นใจจะไม่หยุดช่วยเหลือ ระบุ อิสราเอลให้ความสำคัญไม่เพิกเฉยและจำชื่อคนได้ ขณะที่เย็นนี้เตรียมบินรับ 5 แรงงานไทย
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยที่เหลืออีก 1 คน ในฉนวนกาซา ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะนำคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในทุกกลับมาสู่ประเทศไทย ซึ่งในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน มีขั้นตอนที่ต้องทำ ตนทำเรื่องนี้มากกว่า 1 เดือนแล้ว และเมื่อวานนี้(30 ม.ค.) รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีกับตน และพูดว่าเราเริ่มคุยกันเกือบ 1 เดือนแล้วดีใจที่ผลเกิดขึ้น และเรายังคงดำเนินการต่อไป ขณะที่ตนได้พูดกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลถึงคนไทยที่เหลืออีก1 คน รวมถึงร่างของ2 คนไทยที่เสียชีวิตว่าอยากนำกลับประเทศไทย แต่ข้อมูลทั้งหมดที่เรามี และที่ได้คุยกับทุกมิตรประเทศ ก็ยังไม่สามารถยืนยันสถานะคนไทยที่เหลืออีก1 คนได้ แต่ทุกคนก็ยืนยันในความตั้งใจที่จะช่วยเหลือคนไทยอีก1 คนให้ได้ และย้ำว่าเป็นนโยบายที่ชัดเจนที่ต้องนำคนไทยกลับมาให้ได้ ขอให้มั่นใจและจะไม่หยุดยั้ง และในช่วงเย็นวันนี้ (31 ม.ค.) ตนก็จะเดินทางไปรับคนไทยทั้งห้าคนที่อิสราเอลซึ่งจะได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย
ส่วนจะถือว่ามีสัญญาณที่ดีได้หรือไม่กับอีกคนไทยที่เหลือหนึ่งคน นายมาริษ ย้ำว่า อย่างที่เรียนว่าคนในพื้นที่ก็บอกมาตรงๆ ว่ายังไม่สามารถจะหาสถานะของอีก 1 คนได้
“เมื่อวานรัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลก็พูดชื่อออกมาชัดเจน คือ นายณัฐพงศ์ ปินตา ก็แสดงให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญ และไม่ได้เพิกเฉยต่อคำร้องขอของเรา อย่างที่ตนบอกบางครั้งบางครั้งก็ต้องทำเงียบๆ ได้ผลดีกว่า และเราก็ทำแบบนั้นกับเขามาตลอดจนเราได้ความมั่นใจ และเมื่อวานนี้หลายประเทศก็โทรศัพท์มาแสดงความยินดีได้ชื่นชมความร่วมมือ ที่เรามีกับทุกมิตรประเทศ จึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณมิตรประเทศทุกประเทศที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้ ทั้งกาตาร์ อียิปต์ อิหร่าน ตุรกีสหรัฐ และอิสราเอลที่ดูแลช่วยเหลือตัวประกันทั้ง5 คนในขณะนี้” นายมาริษ ระบุ
เมื่อถามว่าขณะนี้มีแรงงานไทยจำนวนมากกลับไปทำงานที่อิสราเอล มีการวางแผน ดูแลและป้องกัน อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ นายมาริษ กล่าวว่า พยายามขอให้คนไทยอย่าพึ่งเดินทางเข้าไปถ้าจะเดินทางเข้าไปทำงานกรุณาอย่าเข้าไปในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยแต่ตนก็คงไปห้ามไม่ได้ จึงต้องพยายามเตือน และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งที่มีปัญหากระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ดูแลคนไทยอยู่แล้ว เรื่องนี้อยู่ในจิตใจของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศทุกคนอยู่แล้ว ที่ต้องการให้การดูแลคนไทยให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตนเข้าใจดีในเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ถ้าจะเข้าไปแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม SOP ที่สถานทูตได้คุยไว้กับฝ่ายทหาร เรื่องการเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย.-316.-สำนักข่าวไทย