นครพนม 31 ม.ค. – เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ใน จ.นครพนม ทยอยรับอุปกรณ์ในพื้นที่อำเภอต่างๆ อย่างคึกคัก โดย จ.นครพนม มีผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ด้านนักวิชาการชี้การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนไป ไม่พึ่งบ้านใหญ่ เพราะเน้นนโยบายมากขึ้น
บรรยากาศที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองนครพนม เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ทยอยรับอุปกรณ์ ทั้งหีบเลือกตั้ง โปสเตอร์ เอกสารประกาศต่างๆ ตะกร้าสำหรับใส่บัตรเลือกตั้ง โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ส.อบจ.นครพนม ในพื้นที่ อ.เมือง มี 6 เขต รวม 214 หน่วย ส่วนทั้งจังหวัด 12 อำเภอ มีหน่วยเลือกตั้งทั้งสิ้น 1,140 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 564,118 คน สำหรับนายก อบจ. มีเขตเลือกตั้งเดียวทั้งจังหวัด
ทั้งนี้ จ.นครพนม มีผู้สมัครนายก อบจ. 8 คน ผู้สมัคร ส.อบจ. 248 คน มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยผู้สมัครนายก อบจ. เป็นรอง จ.สงขลา ที่มีผู้สมัคร 9 คน ส่วน ส.อบจ. เป็นรอง จ.ศรีสะเกษ ที่มีผู้สมัคร 289 คน
นางสาวพิมล โพนทราย ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ จ.นครพนม กล่าวว่า ตอนนี้ได้รับการร้องเรียนหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการหาเสียง ป้ายหาเสียง ส่วนการซื้อสิทธิขายเสียงมีร้องเรียนเข้ามาบ้าง แต่เมื่อชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งตั้งไว้ 5 ชุด ชุดละ 3 คน เข้าไปตรวจสอบ ไม่พบพยานหลักฐานที่ยืนยันความผิดได้
ทั้งนี้ การเลือกตั้งท้องถิ่น การอำนวยความสะดวกประชาชนไม่ได้เทียบเท่าการเลือกตั้ง สส. ดังนั้น จึงตั้งเป้าผู้ออกมาใช้สิทธิอย่างน้อย 65% แม้เจ้าหน้าที่จะอยากได้ 70% เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ก็ตาม คาดว่าจะทราบผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการเวลา 21.00-22.00 น.
การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยน ไม่พึ่งบ้านใหญ่ เน้นนโยบายมากขึ้น
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงการเมืองท้องถิ่นภายในภาคตะวันออกว่า มีความเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากพื้นที่อื่น มีปัจจัยหลักมาจากพลวัตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป มีชนชั้นกลางมากขึ้น จากการขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรร การเติบโตของเขตเศรษฐกิจต่างๆ ผู้คนมีความสัมพันธ์ในแนวราบมากขึ้น มีคอนเนกชั่นเป็นของตนเอง ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยอิทธิพลจากบ้านใหญ่เท่าเมื่อก่อน สิ่งที่ตามมาคือการปรับตัวของบ้านใหญ่หรือพรรคการเมืองต่างๆ ที่ต้องปรับตัวเข้าสู่การเมืองรูปแบบใหม่มากขึ้น ยกตัวอย่างชลบุรี หากเราลองปิดชื่อผู้สมัครแล้วดูแค่ป้ายหาเสียง จะเห็นว่ามีรูปลักษณ์ใหม่ๆ มากขึ้น ชูนโยบายการเมืองสร้างสรรค์ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการเมืองท้องถิ่นของชลบุรี ขณะที่ระยองก็เข้มข้น เพราะบ้านใหญ่ต้องอุดรูรั่ว ชี้แจงจุดอ่อน เน้นการเมืองเชิงนโยบายมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับพรรคประชาชน เพราะคนสนใจการเมืองกันมากขึ้น แต่ปราจีนบุรี จะต่างออกไปด้านเศรษฐกิจที่ไม่ได้เติบโตจนส่งผลต่อแนวคิดของประชาชน แต่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นกัน จากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้บ้านใหญ่ของปราจีนบุรีเกิดภาวะถดถอยทางการเมือง กลายเป็นโอกาสของคู่แข่งทางการเมืองทั้งหน้าเก่าและใหม่ ให้มีพื้นที่ชิงตำแหน่งมากขึ้น
ต้องยอมรับว่าหลายพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปในทางบวกต่อการเมืองท้องถิ่น ปัจจัยหนึ่งคือ การเข้ามาของพรรคประชาชน แต่ไม่ได้เป็นผลดีต่อพรรคเสมอไป เนื่องจากในบางพื้นที่บ้านใหญ่ที่มีต้นทุนดีเรื่องทำผลงาน การอยู่กับประชาชนในพื้นที่มานาน เมื่อมีการปรับตัวในด้านนโยบายมากขึ้น ถือเป็นข้อได้เปรียบของบ้านใหญ่ ทำให้พรรคประชาชนต้องทำงานหนักขึ้นด้วย.-สำนักข่าวไทย