กรุงเทพฯ 20 ม.ค. – รมว.พาณิชย์ นั่งตามติดผลกระทบจากนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเตรียมเยือนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์นี้ เจรจาขอยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าจากไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายทางการค้าของสหรัฐ จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ติดตามและประเมินผลกระทบมาต่อเนื่อง ทั้งการประกาศนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีน แคนาดา เม็กซิโก และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก การปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ตลอดจนการดึงการลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อสร้างการจ้างงานภายในประเทศ
“มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (The United States Trade Representative) หรือ USTR เรียบร้อย โดยจะเป็นหน่วยงานที่ดูแลการพิจารณาและออกประกาศมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีแผนที่จะนำคณะผู้บริหารเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ชุดใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อการเจรจาขอยกเว้นการขึ้นภาษีสินค้าจากไทย” นายพูนพงษ์ กล่าว
สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก โดยกลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษีมีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61 – 66) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์มือถือ, ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์), ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่, หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบของของดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่อาจมีฃความเสี่ยงโดนเก็บภาษีเช่นกัน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ตู้เย็นตู้แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปบางรายการ อาทิ ปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ขนมหวานที่ไม่มีส่วนผสมจากโกโก้ ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เองก็ได้จับตาประเทศที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิต เพราะต้องการเลี่ยงสงครามการค้า และมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ โดยประเทศปลายทางที่จีนเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม (Greenfield FDI) มากเป็น 10 อันดับแรก ในปี 66 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย เวียดนาม โมร็อกโก คาซัคสถาน อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เซอร์เบีย และเม็กซิโก
สำหรับในมุมของเศรษฐกิจโลกปี 2568 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินอัตรา การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.3% และยังมองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงมีเสถียรภาพและได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่เติบโตได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเติบโตอยู่ที่ 4.2% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเติบโตที่ 1.7% อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟได้เตือนถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกว่า ในระยะปานกลางเศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับความเสี่ยงนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นการปกป้องที่เข้มข้นขึ้น (protectionist policies) โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรที่อาจนำไปสู่การลดลงของ การลงทุน ลดทอนความมีประสิทธิภาพของตลาด เบี่ยงเบนทิศทางการค้า และอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและมาตรการ ที่นำไปสู่การเบี่ยงเบนทางการค้า (trade-distorting measures) จะทำให้เกิดความเสี่ยงของการค้าโลก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเวิลด์แบงก์ได้ปรับประมาณการปริมาณการค้าโลกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เหลือ +3.1% สำหรับเศรษฐกิจและการส่งออกไทยและอาเซียน คาดว่าจะส่งผลให้ขยายตัวลดลงเช่นกัน. -511-สำนักข่าวไทย