กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – อธิบดีกรมประมง เผยเตรียมของบกลางเพื่อนำมาแก้ไขปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ต่อเนื่อง ยืนยันสถานการณ์การระบาดลดระดับเป็นสีเหลืองและเขียว ไม่วิกฤติเหมือนก่อนแล้ว แต่จะขอใช้งบประมาณในการกำจัดในระยะต่อไป หลังจากที่การแพร่ระบาดเบาบางลง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ะระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีวาระเพื่อขอความเห็นชอบในการขอใช้งบกลางเร่งด่วนเพิ่มเติมสำหรับการกำจัดในระยะที่สถานการณ์เริ่มบรรเทาลงเช่น การปล่อยปลานักล่า การใช้กากชา โดยเป็นวิธีกำจัดที่เหมาะสมจะดำเนินการเมื่อจำนวนปลาหมอคางดำเบาบางลง ส่วนการดำเนินการแก้ปัญหาระยะยาวคือ การทำปลาหมัน ขณะนี้ได้เพาะลูกปลาที่มีโครโมโซมหมันจำนวนหนึ่งซึ่งพร้อมจะนำมาทดสอบปล่อยในแหล่งอิงธรรมชาติวิจัยที่จังหวัดเพชรบุรีในปลายเดือนมกราคม ก่อนจะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมันในอนาคต
ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปลายปี 2567 ได้จัดงบประมาณสำหรับการจับ รวมถึงปล่อยปลานักล่า และนำปลาหมอคางดำที่จับจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ขณะนี้ได้จับไปแล้วกว่า 3 ล้านกิโลกรัม โดยข้อมูลจากจังหวัดที่ระบาดทั้ง 19 จังหวัดนั้น พบว่า มี 3 จังหวัดที่ไม่มีการระบาดแล้ว ส่วน 16 จังหวัดที่เหลือ จากสถานการณ์วิกฤตในธรรมชาติสีแดง ตอนนี้ลดอยู่ที่สีเหลืองและสีเขียว แต่ในบ่อเลี้ยงของเกษตรกรที่มีปลาหมอคางดำหลุดเข้าไป จะต้องกำจัดออกเพิ่มเติม
ทั้งนี้นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเป็น 2 ส่วนได้แก่ การกำจัดจากแหล่งเลี้ยงที่ไม่มีเจตนาเลี้ยงออกให้ได้มากที่สุดรวมถึงในธรรมชาติ โดยได้ของบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 60 ล้านบาท เพื่อนำมารับซื้อจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 15 บาท และค่าดำเนินการอีก 5 บาท ตั้งเป้าหมายรับซื้อไว้เดือนละ 500 ตัน จนกว่าจำนวนปลาหมอคางดำจะน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ มีหนังสือไปยังกรมบัญชีกลา งกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบให้ใช้งบดังกล่าว ระยะนี้เป็นช่วงรอยต่อของโครงการที่รองบประมาณอยู่ กรมประมงพยายามเร่งรัดอย่างเต็มที่
ส่วนที่มีเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งข้อสังเกตว่า พบปลาหมอคางดำมากขึ้น หลังจากน้ำท่วมภาคใต้ ยืนยันว่า พฤติกรรมของปลาหมอคางดำชอบอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ ภาวะน้ำท่วมคือ น้ำจืดที่ไหลจากแผ่นดินลงสู่ทะเล ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าวไม่ใช่ปัจจัยเร่งให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น
กรมประมงยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดยปฏิบัติตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วน ยืนยันว่า จะเร่งฟื้นฟูนำทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอยู่กลับมาให้ได้. – 512 – สำนักข่าวไทย