กรุงเทพฯ 19 ธ.ค.-นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษงาน Bangkok Post Forum 2024 ร่วมกำหนดอนาคตของประเทศไทย “Thailand’s Next Chapter” ย้ำจุดแข็งของไทย ทั้งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม พร้อมใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ปูทางสู่ความรุ่งเรืองและมั่งคั่งร่วมกันเพื่ออนาคตประเทศไทย
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงาน Bangkok Post Forum 2024 โอกาสครบรอบ 78 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ในหัวข้อ “Redefine Thailand: The Road to Prosperity”
นายกรัฐมนตรี กล่าวเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมงานในวันนี้ เพื่อร่วมกันสำรวจเส้นทางอนาคตของประเทศไทยในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลยุทธ์ทางอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตจำนวนมากและอุตสาหกรรมหนักอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ไทยต้องดึงศักยภาพและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ไทยมีความโดดเด่น ในการกำหนดเส้นทางใหม่ที่จะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง และผลักดันไทยให้เป็นผู้นำในโลกที่มีพลวัตและความเชื่อมโยง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย 2 ประการ ดังนี้
ประการแรก ไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ การค้าและการแลกเปลี่ยน และการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน เอเชีย-แปซิฟิก กับภูมิภาคอื่น ๆ ตลอดจนสามารถส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้า คน และแนวคิดข้ามพรมแดน ผ่านทางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ศูนย์กลางการบิน และเครือข่ายห่วงโซ่ความเย็น (cold-chained network) นอกจากนี้ ไทยยังสามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก ส่งเสริมความร่วมมือระดับโลก ในยุคแห่งการแบ่งแยก ไทยสามารถยืนหยัดเป็นแสงแห่งความร่วมมือและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้
ประการที่สอง ไทยมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นที่รู้จักในฐานะ “ครัวโลก” มานาน และตอนนี้ถึงเวลาที่จะยกระดับ ด้วยทรัพยากรทางการเกษตร ความเชี่ยวชาญด้านการทำอาหาร และเทคโนโลยีขั้นสูง ไทยสามารถเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นเกษตรสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความยั่งยืน และนวัตกรรม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีศักยภาพที่จะยกระดับให้เป็นมากกว่าจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว แต่สามารถเป็นสถานที่แห่งสันติภาพและการฟื้นฟู ด้วยชื่อเสียงด้านการบริการและมรดกทางวัฒนธรรม ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีความโดดเด่น รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวและทำงานทางไกล (Digital Nomad) และผู้เกษียณอายุ
นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีเข้ามาผสานกับจุดแข็ง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวและสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะเฉพาะแต่ละบุคคลได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ผ่านการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (data centers) และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลก ตลอดจนเตรียมพร้อมบุคลากรของไทยในสาขาต่าง ๆ เช่น AI, Cloud Computing และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมและเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเปลี่ยนวิสัยทัศน์ข้างต้นให้เป็นความจริง ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและประสานงานกันใน 4 ด้านหลัก ได้แก่
1.การปฏิรูปกฎหมาย (Legal Reforms) เช่น การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัยเพื่อให้ไทยมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการทำธุรกิจและสร้างสรรค์มากขึ้น อาทิ การปรับปรุงระยะเวลาในการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาต และการบูรณาการระบบดิจิทัลเพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) รัฐบาลมีโครงการ One Family, One Soft Power ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันความสามารถทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เร่งฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI เซมิคอนดักเตอร์ และยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมบุคลากรของไทยสำหรับโอกาสในอนาคต ตลอดจนฟื้นโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุนการศึกษา (One District, One Scholarship (ODOS)) เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศมากขึ้น
3.การสนับสนุนทางการเงินสำหรับนวัตกรรม (Financial Support for Innovation) รัฐบาลจะเพิ่มเงินทุนสำหรับนวัตกรรมและ startups โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่มีผลลัพธ์สูง และมีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน รวมถึงการปรับปรุงการจัดสรรเงินทุนและเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเปลี่ยนแนวคิดที่ดีให้กลายเป็นธุรกิจที่เจริญรุ่งเรือง
4.มาตรฐานและการรับรองระดับโลก (Global Standards and Certification) รัฐบาลจะยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้แน่ใจว่า “Made in Thailand” จะสะท้อนถึงคุณภาพที่ดีเลิศ ตัวอย่างเช่น การนำการรับรองระดับสากลมาใช้เพื่อช่วยให้สินค้าส่งออกของไทย เช่น ทุเรียน สามารถรักษาสถานะพรีเมียมในตลาดโลกได้
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า กลยุทธ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นนโยบายเท่านั้น แต่ยังเป็นคำมั่นสัญญาที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทยใหม่ ด้วยการนำจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์มาใช้ค้นหาโอกาสใหม่ ๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนเป็นคำมั่นสัญญาที่จะสร้างความมั่งคั่งร่วมกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน และภูมิภาคโดยรวม โดยทั้งหมดนี้เป็น “Thailand’s next chapter” บทต่อไปของประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมเดินทางไปด้วยกัน เพื่อสร้างอนาคตที่กำหนดโดยนวัตกรรม ความยืดหยุ่น และโอกาสสำหรับทุกคน.-316.-สำนักข่าวไทย