ไข้เลือดออกเป็นซ้ำแล้วเสี่ยงเสียชีวิตจริงหรือไม่ และควรป้องกันไข้เลือดออกด้วยวิธีใดจึงจะดีที่สุด ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อดีต มีความเชื่อกันว่า “โรคไข้เลือดออก” เป็น “โรคของเด็ก”
ปัจจุบัน โรคไข้เลือดออกเป็นได้ทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ
ปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออกสูงสุดในรอบ 10 ปี กลุ่มผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่พบมากที่สุดคือ เด็ก ตามด้วยวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น ส่วนผู้สูงอายุพบน้อยที่สุด
อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ในเด็กพบน้อยมาก ๆ ทว่าวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าเด็ก แต่ว่าเสียชีวิตสูงกว่า เพราะติดเชื้อไข้เลือดออกและเป็นโรคที่มีอาการรุนแรงมากกว่า
อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นสูงกว่าเด็ก เพราะอะไร ?
สาเหตุที่วัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้นป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้วเสียชีวิต มีหลายกรณี เช่น
1. ตัวผู้ป่วยไม่คิดว่าตัวเองเป็นโรคไข้เลือดออกเพราะเป็นผู้ใหญ่ แต่คิดว่าไข้เลือดออกเป็นโรคของเด็ก จึงไม่ได้ระมัดระวังตัว
2. กินยาบางอย่างที่ไม่ควรกิน หรือไม่ได้ไปรับการรักษาในเวลาที่เหมาะสม
3. ด้วยกลไกของภูมิคุ้มกันโรคระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ต่างกัน เช่น กรณีโควิด-19 ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุติดโควิด-19 มีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กที่ติดโควิด-19
โรคไข้เลือดออกที่รุนแรงและอันตราย เกิดจากปัจจัยใด ?
โรคไข้เลือดออก รุนแรงหรือไม่รุนแรง มีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น อายุ พันธุกรรม ลำดับการติดเชื้อ สายพันธุ์ของไข้เลือดออก
“ไข้เลือดออก” เกิดจากการติดเชื้อ “ไวรัสเดงกี” (Dengue Virus) ปัจจุบันมี 4 สายพันธุ์ คือ ไวรัสเดงกี 1, 2, 3, และ 4 ตามลำดับ หลังจากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์อื่นด้วยในช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ ได้อีก
ดังนั้น ถ้าหากเคยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว ก็ยังมีโอกาส “เป็นซ้ำ” ได้อีกจากสายพันธุ์อื่น
ยกตัวอย่างเช่น เคยติดไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 1 ก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 1 ไปตลอดชีวิต แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2-3-4 ได้ แต่ภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์ที่ 1 สามารถจะป้องกันสายพันธุ์ที่ 2-3-4 ได้อีกประมาณ 1-2 ปีแรก หลังจากนั้นก็จะติดเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์ที่ 2-3-4 ได้
สำหรับการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งที่ 2 อาการไม่รุนแรงเสมอไป มีเพียง “โอกาสเป็นรุนแรงได้” เท่านั้น แต่คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไข้เลือดออกที่อาการไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 โอกาสจะสูงขึ้นเท่านั้นเอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการรุนแรง ในทางตรงกันข้าม บางคนติดเชื้อโรคไข้เลือดออกครั้งแรกก็มีอาการรุนแรงมากแล้ว เพียงแต่โอกาสน้อยมากเท่านั้นเอง
มีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกครบทั้ง 4 สายพันธุ์ หรือไม่ ?
มีนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก พบว่า ตลอดชีวิตของคนเรามีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกครบทั้ง 4 สายพันธุ์ แต่โอกาสที่จะเป็นมีน้อยมาก ๆ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่เสียชีวิต มาจากสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน เช่น
1. มาถึงโรงพยาบาลด้วยอาการระยะวิกฤตินานแล้ว
2. ผู้ป่วยมีอาการช็อกมานาน พบว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ช็อกนานแล้ว ตับ ไต หัวใจ ทำงานน้อยลง ซึ่งจะทำให้กลับคืนมายาก การรักษาก็ยากและมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
ผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว ดูแลอย่างถูกต้องเร็ว โอกาสเสียชีวิตแทบจะเป็นศูนย์
ดังนั้น ถ้ารู้ว่าเข้าข่ายเป็นโรคไข้เลือดออก ควรปฏิบัติดังนี้
1. มีไข้ 2-3 วันแต่ไข้ไม่ลง มีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก แนะนำให้ไปพบแพทย์ จะได้ตรวจเลือดว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่ ถ้าอาการไม่มากก็จะแนะนำให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน
2. กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ หลีกเลี่ยงยาลดไข้ไอบูโพรเฟน และยาแอสไพริน
3. กินอาหารอ่อน พักผ่อนให้เพียงพอ
หลังจากมีไข้แล้ว 3-4 วัน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น กระสับกระส่าย ซึมลง ถึงแม้ไข้ลงแล้วก็ยังรู้สึกไม่สบายตัว ต้องกลับไปพบแพทย์ทันทีและต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ
ป้องกันโรคไข้เลือดออก อย่างไร ?
โรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา วิธีที่ดีที่สุดก็คือ การป้องกัน ได้แก่
1. ควบคุมยุงลาย อย่าให้ยุงลายแพร่พันธุ์ ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
2. อย่าให้ยุงกัด ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว นอนในมุ้ง และทายากันยุง
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ถึง 60 ปี แต่คนบางกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและหญิงตั้งครรภ์ ยังไม่สามารถฉีดได้
ดังนั้น การป้องกันโรคไข้เลือดออกควรใช้หลาย ๆ กลยุทธ์ร่วมกันจะดีกว่า
การเข้าใจความเสี่ยงและตระหนักถึงอันตราย จะช่วยให้กำจัดสาเหตุและป้องกันได้ก่อนการเกิดโรค
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : อันตรายและการป้องกันไข้เลือดออก
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter