กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – สนค.แถลงการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (896,735 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 14.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 10.7 ทำมูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงว่าปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 4.9 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.8 มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนตุลาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 27,222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 14.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 28,016.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.9 ดุลการค้า ขาดดุล 794.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 250,398.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.6 ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนตุลาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 896,735 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 934,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 ดุลการค้า ขาดดุล 37,965 ล้านบาท ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 8,854,630 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 9,199,289 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 344,659 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.2 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.8 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อิรัก และแคเมอรูน) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 32.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย) ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.4 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 18.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อิตาลี ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ) และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 28.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน (ขยายตัวในสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และแคนาดา)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 3.3 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ และเมียนมา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 30.6 หดตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย และแคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) น้ำตาลทราย หดตัว ร้อยละ 12.8 หดตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (หดตัวในตลาดไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เมียนมา และจีน แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม และมาเลเซีย) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 46.2 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย เมียนมา มาเลเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน กัมพูชา ญี่ปุ่น และลาว) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.6
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.7 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 77.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสิงคโปร์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 27.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 43.0 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน) เคมีภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 18.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และมาเลเซีย) เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 4.8 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และสหรัฐฯ) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 2.2 กลับมาขยายตัวในรอบ 6 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินเดีย จีน ออสเตรเลีย เวียดนาม และกัมพูชา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 44.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม และญี่ปุ่น) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.1 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เม็กซิโก ไต้หวัน สาธารณรัฐเช็ก และมาเลเซีย)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 16.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และมาเลเซีย แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม สหรัฐฯ อาร์เจนตินา บราซิล และอิรัก) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัวร้อยละ 34.7 หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ไต้หวัน เวียดนาม และมาเก๊า แต่ขยายตัวในตลาดฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.2. -511-สำนักข่าวไทย