ทำเนียบ 21 พ.ย.-“ชูศักดิ์” เปิดประเด็น รธน. ให้กฎหมายการเงินไม่ต้องรอ 180 วัน เพื่อปลดล็อกการทำประชามติ ย้ำถ้าออกกฎหมายไม่ทันจริง อย่างน้อยขอให้เลือก สสร. มายกร่างฯ ก่อน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมติเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้คงไว้ตามที่วุฒิสภาแก้ไข คือ การทำประชามติ 2 ชั้น ว่า จากนี้จะนำสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาจะมีมติอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่แนวโน้มก็คงเห็นชอบตามกรรมาธิการร่วมฯ ขณะที่เดิมสภาผู้แทนราษฎรก็มีมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา ไม่มีคัดค้านอะไรเลย ซึ่งตนคาดว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คงเอาตามความเห็นเดิม คือ ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วมฯ โดยให้ใช้มติของสภาผู้แทนราษฎร ก็แปลว่ากฎหมายนี้ต้องถูกยับยั้งไว้รอไว้ 180 วัน แล้วหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ ถ้าว่าสภาผู้แทนราษฎรยืนตามความเห็นเดิม เอาเสียงข้างมากธรรมดา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุให้ถือสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ถ้าเป็นแบบนี้ก็สามารถนำเอาร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเคยมีมติไว้ ขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย
แต่ถ้ารอไว้ 180 วัน สื่อก็คงจะถามต่อไปว่า ท้ายที่สุดจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทันหรือไม่ คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับว่าถ้าทำประชามติ 3 ครั้ง ไม่ทันแน่ เพราะรัฐบาลเหลือระยะเวลา 2 ปีเศษ แต่ถ้าความเห็นเป็นอย่างอื่น ถ้าย่อการทำประชามติมาเหลือ 2 ครั้งก็อาจจะทัน แต่ 2 ครั้งนี้พูดง่ายๆก็คือ ความเห็นของพรรคการเมืองทั้งหลายยังไม่ลงรอยกัน โดยเฉพาะฝ่ายสภาที่เป็นฝ่ายประจำ ที่เสนอเสนอแนะต่อประธานสภาฯ ว่าต้องมีการทำประชามติครั้งแรกก่อนโดยยังไม่มีร่างฯ เท่ากับว่าทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งตนและทีมงานก็อยากจะขอพูดคุยเรื่องนี้กับคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองและสภาฯ ถ้าสามารถทำประชามติ 2 ครั้ง ก็อาจจะทัน
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตรงนี้ยังไม่เคยเปิดประเด็นขึ้นมา โดยมีปัญหาข้อกฎหมายอยู่นิดหนึ่ง ถ้าใครไปดูรัฐธรรมนูญละเอียด จะมีมาตรา 137 วรรคท้าย บอกไว้ว่าถ้าเป็นกฎหมายการเงิน ระยะเวลา 180 วัน ให้ลดลงเหลือ 10 วัน ซึ่งกฎหมายการเงินก็คือต้องใช้งบประมาณ ตนจึงมองว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงิน เพราะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติ รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ฝากไว้ให้คิดแล้วก็เสนอรัฐบาลว่าไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน เพราะมาตรา 137 วรรคท้ายบอกว่าลดลงเหลือ 10 วัน แต่นี่ก็เป็นความเห็นเท่าที่ตนอ่านรัฐธรรมนูญ แต่ก็คงต้องหารือในวิปฯ อีกที
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะหารือกับพรรคร่วมอีกครั้งหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วเรื่องก็ต้องเข้าวิปฯ ก็ต้องหารือกันว่าจะลงมติอย่างไร ยืนตามเดิมหรือไม่ ซึ่งตนก็เข้าใจว่ายืนตามเดิม แต่เงื่อนไข 180 วัน อาจไม่ต้องใช้ก็ได้
เมื่อถามว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรที่ลดลงมาเหลือ 10 วัน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็จะทำประชามติได้ทัน ซึ่งเคยคิดกันมาในอดีตว่าถ้ามันไม่ทันจริงๆ อย่างเช่นต้องใช้ 180 วัน จะทำอย่างไร ความคิดของพวกเรามองว่าก็ต้องดันไป อย่างน้อยถ้าถ้าไม่ทันจริงๆก็ขอให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ขึ้นมา เพื่อยกร่างฉบับใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย เพราะนี่คือนโยบายของรัฐบาล เรื่องนี้ตนได้บอกกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลแล้ว ว่ามีข้อกฎหมายตรงนี้ ลองดูแล้วกัน
เมื่อถามว่า ประเด็นนี้แกนนำพรรคร่วมควรหารือหรือไม่ โดยเฉพาะการให้นายกฯ ส่งสัญญาณไปยังหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็คงต้องผ่านวิปฯก่อน วิปฯ ก็คงหารือกับแกนนำรัฐบาลอีกที
ส่วนจะมีโอกาสจะหารือกับฝ่ายค้านหรือไม่ นายชูศักดิ์ บอกว่า จริงๆ ฝ่ายค้านก็มีความตั้งใจอยู่แล้ว อะไรที่มันเป็นไปได้ก็เชื่อว่าฝ่ายค้านจะให้ความร่วมมือ เท่าที่ทำงานกันมาก็เห็นความตั้งใจของฝ่ายค้านที่จะทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝั่งรัฐบาลก็มีความตั้งใจ และเขียนเป็นนโยบายไว้ว่า จะเร่งรัดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็ว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาการเมืองหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวติดตลกว่า “ผมไม่อยากทะเลาะกับใคร”.-314.-สำนักข่าวไทย