ดีเอสไอ 18 พ.ย. – ดีเอสไอเตรียมสอบ “บอสพอล” ในคุก กรณีคลิปอ้างเคยจ่าย 10 ล้านบาท ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ยืนยันพบหลักฐานผิดจริงต้องดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา
กรณีปรากฏคลิปเสียงสนทนาระหว่างชายและหญิง โดยเนื้อหาบางช่วงฝ่ายหญิงกล่าวอ้างให้ฝ่ายชายรับฟังว่าเคยจ่ายเงิน 10 ล้านบาท แก่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ผ่านทนายความคนกลาง เพื่อเป็นค่าดำเนินการทางคดี ไม่ให้มีการแถลงข่าว ต่อมาภายหลังเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวของ น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ หรือ เจ๊พัช ประธานอำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมเครือข่ายออนไลน์ และศูนย์ข่าวต้านโกง ได้มีการออกมายอมรับว่ากรณีคลิปเสียงดีเอสไอเกิดขึ้นมากว่า 10 ปี และตัวกลางที่มาอ้างก็เสียชีวิตไปแล้ว
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทำหนังสือประสานงานไปยังสำนักข่าวที่มีการนำเสนอคลิปเสียงสนทนานั้น เบื้องต้นพบว่าเป็นเรื่องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ส่วนกระบวนการตรวจพิสูจน์ หากดีเอสไอได้รับคลิปเสียงมาแล้ว จะตรวจสอบว่าเป็นคลิปเสียงสนทนาจริง หรือมีการตัดต่อในช่วงใดหรือไม่ และจะต้องมีการสอบปากคำบุคคลที่เชื่อว่าเป็นเจ้าของเสียง ต้องดูว่าใช่เสียงของเขาจริงหรือไม่ มีมูลความจริง มีความหมายอย่างไร รวมถึงที่มีการระบุว่ามีตัวกลางนั้นได้มาพบเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ ซึ่งในคลิปเสียงดังกล่าวมีบุคคลที่ดีเอสไอจะต้องเข้าไปสอบปากคำภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งถ้าหากนายวรัตน์พล ให้ข้อมูลอย่างไรกับดีเอสไอเกี่ยวกับคลิปเสียง ดีเอสไอจะได้นำข้อมูลการให้ปากคำของนายวรัตน์พล มาสอบถามกับ น.ส.กฤษอนงค์ ด้วยว่ากรณีดังกล่าวเจ้าตัวได้เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเองหรือไม่ หรือได้ให้ตัวกลางบุคคลใดมาติดต่อ และต้องตรวจสอบว่าตัวกลางเสียชีวิตจริงหรือไม่ ต้องพิสูจน์ให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน หากมีการจ่ายเงินจริง จ่ายด้วยวิธีการใด หากพบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ามีเจ้าหน้าที่รายใดกระทำผิดจริง ก็จะต้องดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา
เมื่อถามถึงกรณีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม ในประเด็นเคยตกเป็นผู้เกี่ยวข้องในคดีแชร์ Forex-3D เพราะมีเส้นทางการเงินรับโอนกว่า 6 ล้านบาท เชื่อมโยงกับนายอภิรักษ์ โกฎธิ ผู้ต้องหาสำคัญในคดีฯ และนายรัฐภูมิ เคยเข้าให้ปากคำในฐานะพยานเพื่อชี้แจงเส้นทางการเงินดังกล่าวกับดีเอสไอเมื่อเดือน ส.ค.66 ว่าเป็นค่าจ้างทำเกม พ.ต.ต.ยุทธนา แจงว่า ในคดีดังกล่าวมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ส่วนใหญ่พนักงานสอบสวนจะพิจารณาจากบุคคลที่พยานหลักฐานชัดเจนว่าเข้าไปมีเจตนา และก็ต้องดูความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงด้วยว่าเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด ยกตัวอย่าง เช่น ในคดีดิไอคอนฯ มีบางส่วนที่เป็นดารานักแสดงแล้วถูกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะพนักงานสอบสวนต้องดูว่าเกี่ยวข้องมากถึงขนาดรับฟังได้ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิด และถ้าหากบุคคลนั้นเพียงเเค่รับจ้าง โดยที่ไม่ได้รู้รายละเอียดของธุรกิจที่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจเช่นนั้นจริง ๆ ก็ต้องพิสูจน์ว่าเขารู้เท่านั้นจริงหรือไม่.-119-สำนักข่าวไทย