กรุงเทพ 11 ต.ค.- “เจ้าท่า” เตรียมพร้อมรับมือเฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยาหนุนสูง ออกประกาศเรือควบคุมความเร็ว เรือลากจูง ขุดลอกร่องน้ำ เก็บผักตบชวา เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ สะดวก ปลอดภัย
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมเจ้าท่า ได้เตรียมรับมือและเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ โดยจะดูแลการเดินเรือในแม่น้ำเป็นหลัก เมื่อมีห้วงเวลาฤดูน้ำหลากหรือน้ำทะเลหนุน กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศ ทั้งในส่วนเรือลากจูง โดยจะต้องมีการลากจูงในความเร็วที่เหมาะสม ขณะเดียวกันจะต้องมีเรือพ่วงท้าย (เรือโต่ง) ตลอดเวลา ซึ่งเรือลากจูงปกติจะมีความยาวประมาณเกือบ 200 เมตร โดยการเดินเรือลากจูงจะต้องมีความชำนาญและดำเนินการตามมาตรการที่กรมเจ้าท่ากำหนด เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ส่วนเรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา จะเข้มงวดเรื่องการใช้ความเร็ว โดยปกติในแม่น้าเจ้าพระยากำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันขอชื่นชมผู้ประกอบการเรือโดยสารที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้กรมเจ้าท่าบริหารจัดการการเดินทางทางน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายภูริพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการดำเนินงานการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อช่วยทำให้การระบายน้ำ การเดินเรือสะดวกและเดินเรือได้ตลอด รวมทั้งการกำจัดผักตบชวาเป็นปัญหาหนึ่ง ถือว่าเป็นวาระสำคัญที่กรมเจ้าท่าต้องรับผิดชอบ โดยได้แบ่งพื้นที่รับผิดชอบกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และท้องถิ่น ส่วนกรมเจ้าท่าจะรับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง และแม่น้ำท่าจีนสายเก่า หากกำจัดผักตบชวาแล้วเสร็จจะทำให้สิ่งกีดขวางการเดินเรือลดลงและเกิดความปลอดภัยในการเดินเรืออีกด้วย
ส่วนกรณีที่เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่และทิศทางน้ำอาจจะเปลี่ยนไป ต้องปรับแผนขุดลอกร่องน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงานนั้น กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำ เกิดการเดินเรือและการระบายน้ำที่เหมาะสมและเพียงพอต่อปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น
นายภูริพัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำปิดทางน้ำ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้ ต้นไม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การไหลของน้ำชะลอตัวและน้ำไหลช้าลง ดังนั้น กรมเจ้าท่าจะต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบ และทุกคนต้องร่วมมือกัน รณรงค์สร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบในสังคมร่วมกัน อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เป็นไปตามนโยบาย “ราชรถยิ้ม” ของนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการขยายผลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการถ่ายทอดนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมสู่การปฏิบัติ ช่วยยกระดับภาคการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศ ให้เกิดความสะดวก ประหยัด ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และครอบคุลมทุกความต้องการของประชาชน สมดั่งคำว่า “คมนาคมทางน้ำ เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”. 513 .-สำนักข่าวไทย