สศอ.ปรับประมาณการ MPI ปี 67 หดตัว 1.0-0.0%

กรุงเทพฯ 26 ก.ย. – หนี้ครัวเรือนกดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) สิงหาคม หดตัว 1.91 % พร้อมปรับประมาณการดัชนี PMI ทั้งปี หดตัว 1.0 – 0.0% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 0.5% ถึงขยายตัว 0.5% แนะจับตาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาท สถานการณ์น้ำท่วม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการเลือกตั้งของสหรัฐ


นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 95.08 หดตัวร้อยละ 1.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.30 ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.55  และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.96 ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 จากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อและยอดปฏิเสธสินเชื่ออยู่ในระดับสูง รวมถึงสินค้านำเข้าราคาถูกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกัน ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะดอกเบี้ยที่ทรงตัว และต้นทุนพลังงานจากราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ทําให้การเดินทาง การจัดส่งสินค้า การค้าชายแดน และการผลิตชะงักลง โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งจําเป็นต้องหยุดดําเนินการ และสถานประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยงต้องปิดตัวชั่วคราว


“จากตัวเลขดัชนี MPI 8 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวร้อยละ 1.55 ส่งผลให้ สศอ.ปรับประมาณการ ปี 2567 คาดว่าดัชนี MPI หดตัวร้อยละ 1.0 – 0.0 และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เงินเฟ้อของเศรษฐกิจโลกที่ลดลง ส่งผลนโยบายการเงินในหลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนคลาย อัตราแลกเปลี่ยนจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐปรับตัวลดลง ส่งผลให้เงินทุนไหลออกมายังประเทศในแถบ ASEAN รวมถึงประเทศไทย โดยคาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในช่วงนี้ที่กำลังขยายตัว อย่างต่อเนื่อง และส่งผลมายังภาคการผลิต โดยเฉพาะด้านอุปโภคและบริโภค เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วม กระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชากรในพื้นที่ และหากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการผลิตในภูมิภาค นอกจากนี้ ค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 บาท จะกระทบต้นทุนการผลิตของผู้ประประกอบการ และการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา  อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องหาแนวทางการรับมือกับนโยบายทางการค้าที่อาจเปลี่ยนแปลง” นางวรวรรณ กล่าว. -517-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เบื้องหลังการถ่ายทอดขบวนเรือพระราชพิธีฯ

วันที่ 27 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยมีพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ข่าวแนะนำ

เปิดใจ “มาดามอ้อย” ลั่น “กราบเท้าก็สายไปแล้ว”

“มาดามอ้อย” ลั่นเดินหน้าดำเนินคดี “ทนายตั้ม” ฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาท ถึงที่สุด ระบุก้มกราบเท้าก็สายไปแล้ว ขณะที่ “สนธิ” ยืนยันไม่ได้รับงานเพื่อเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อโกง

สภาฯ ผ่านฉลุย “กม.ห้ามตีเด็ก”

สภาฯ ผ่านฉลุย “กม.ห้ามตีเด็ก” “ณัฐวุฒิ” ชี้แม้ไม่มีคำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองจะทำร้ายบุตรได้ เหตุยังมี กม.คุ้มครองเด็ก เอาผิดอยู่

อุตุฯ เลื่อนประกาศเข้าฤดูหนาว คาดเข้าเกณฑ์ไม่เกิน 2 สัปดาห์

โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เผยเลื่อนประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว เนื่องจากสภาพอากาศในประเทศไทยยังไม่เข้าเกณฑ์ คาดเข้าเกณฑ์ไม่เกิน 2 สัปดาห์