ตรัง 30 ต.ค. – ผสานวัฒนธรรมภาคเหนือ-ใต้ ลีลามโนราห์เก็บฝ้าย นำไปทอเป็นผ้าจุลกฐิน ถวายพระวัดภูเขาทอง อ.เมือง จ.ตรัง ทางคณะเจ้าภาพได้ยกโรงทอผ้ากี่กระตุกมาจากภาคเหนือ
นี่เป็นลีลาของมโนราห์ที่รำแบบต้องอ่อนช้อย สวยงาม รำไปพลางเก็บไปดอกฝ้ายไปด้วย จัดขึ้นที่วัดภูเขาทอง ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง มีพิธีรำมโนราห์บอกกล่าวถึงเทพยดา พระแม่ธรณี พระแม่คงคาที่ปกป้องดูแลต้นฝ้าย ซึ่งพระสงฆ์และชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ ประมาณ 300 ต้น วันนี้เป็นวันเก็บฝ้ายที่สุกบานเป็นสีขาวให้เห็นทั้งต้น เพื่อจะนำมาทำผ้าจุลกฐิน ถวายแด่พระสงฆ์วัดภูเขาทอง มีพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีจำนวนมาก
หลังพิธีบวงสรวง คณะเจ้าภาพ ร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันรวบรวมฝ้ายที่เก็บได้ เข้าสู่โรงทอผ้าจุลกฐิน ซึ่งคณะเจ้าภาพได้ยกโรงทอผ้าด้วยกี่กระตุกมาจาก จ.เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เพื่อมาทอผ้าจุลกฐินให้แล้วเสร็จทุกขั้นตอนภายในเวลา 24 ชั่วโมง ตามความเชื่อประเพณีโบราณ
เริ่มตั้งแต่การเก็บฝ้าย การตีฝ้าย เป็นปุยให้ฝ้ายแตกตัว เพื่อเมล็ดออก ปั่นเป็นเส้นด้าย เปียฝ้ายออกเป็นไจ นำไปปั่นเป็นหลอดใส่กระสวย ก่อนทอออกมาเป็นผืน และย้อมผ้าด้วยสีเหลืองจากขมิ้น ไม้ขนุน และไม้แก่นฝาง เพื่อให้ได้ผ้าไตร สบง จีวร ที่เป็นสีจากธรรมชาติ โดยมีชาวบ้านชมขั้นตอนการทำดอกฝ้ายดิบให้เป็นเส้นด้าย และชมการทอผ้าด้วยกี่กระตุกจากช่างทอผ้าภาคเหนือกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้ คณะเจ้าภาพอยากนำประเพณีถวายผ้าจุลฐิน ซึ่งมักถวายกันทางอีสานและภาคเหนือ มาถวายที่วัดทางใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตัวเองบ้าง
สำหรับประเพณี จุลกฐิน จะจัดขึ้นเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ถือเป็นประเพณีดั้งเดิม ที่ชาวบ้านต้องสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมงาน และทอผ้าไตรจีวรจากฝ้าย ให้แล้วเสร็จจำนวน 1 ชุด ภายใน 1 วัน เพื่อนำไปถวายวัดในเช้าวันถัดไป แต่ในยุคนี้งานจุลกฐิน เปลี่ยนแปลงประยุกต์ไปตามสมัย และเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันในต่างพื้นที่ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ส่วนวัดภูเขาทอง อ.เมือง จ.ตรัง เป็นวัดที่มีพระนอนทรงเทริดมโนราห์ เป็นพระพุทธไสยาสน์ ปางปรินิพพาน อายุกว่าพันปี มีเพียงองค์เดียวในโลก ประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก คณะเจ้าภาพจุลกฐิน จึงเลือกถวายผ้ากฐินที่วัดแห่งนี้ ด้วยความเคารพศรัทธา .- สำนักข่าวไทย