รัฐสภา 30 ต.ค.- สภาฯ ผ่านฉลุย “กม.ห้ามตีเด็ก” “ณัฐวุฒิ” ชี้แม้ไม่มีคำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองจะทำร้ายบุตรได้ เหตุยังมี กม.คุ้มครองเด็ก เอาผิดอยู่
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่..พ.ศ… หรือกฎหมายห้ามตีเด็ก ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาวาระที่2 และวาระที่3
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานกมธ.ฯ ชี้แจงว่า ในที่ประชุม กมธ.ได้มีการถกเถียงกัน โดย กมธ.เสียงข้างมากให้มีวลีที่ว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ส่วนกมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่าไม่ต้องมีข้อความว่าเป็นการเฆี่ยนตี นอกจากนี้ กมธ.ได้มีข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ และดำเนินกการให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โดยที่ประชุมแสดงความคิดเห็นว่า การทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ เช่น น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า การไม่ตีเด็ก หรือการทารุณกรรม ยังเป็นหลักการสากลที่ยอมรับกัน และในฐานะที่ตนมีลูก 2 คน ตั้งแต่เขาเกิดมาจนถึงตอนนี้ ตนยังไม่เคยตีลูกเลยแม้แต่ครั้งเดียว และเชื่อว่าถ้าเราไม่ตีลูกก็สามารถสั่งสอนด้วยวิธีการอื่นได้ หากในบ้านยังมีการตีเพราะความรัก หรือเพื่อการสั่งสอน เราจะไม่สามารถสอนบุตรหลานของเราในอนาคตได้เลยว่าการทำร้ายกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นการเขียนปกป้องเด็กระบุไปในกฎหมายแพ่งครั้งนี้ เป็นเพียงเราต้องการจะจุดประกายในการที่จะเริ่มต้นคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่จะเป็นบุคลากรของประเทศในอนาคต ที่จะปลอดภัย จาการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ และอยากจำว่าปัญหาของสังคมที่เกิดขึ้นก็เกิดจากการบ่มเพาะในวัยเด็กตั้งแต่ 0-6 ขวบ ที่อาจจะได้รับการเลี้ยงดูมาไม่สมบูรณ์ มีการตีหรือมีการทำร้าย ทำให้เกิดปัญหาในสังคมในปัจจุบัน
ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ในกมธ.มีการถกเถียงกันมาก และเสียงข้างมาก ยังยืนยันว่าอยากให้มีการใส่คำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ในกรณีการลงโทษ หรือการปรับพฤติกรรมของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง แม้กมธ.เสียงข้าน้อยจะตัดคำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” ออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ปกครองจะสามารถเฆี่ยนตีบุตรได้ เพราะการเฆี่ยนตีเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้ในการสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรเชิงบวกหรือแม้กระทั้งการเฆี่ยนตีด้วยความรุนแรงที่ส่งผลต่อร่างกาย และจิตใจนั้นก็ย่อมมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือประมวลกฎหมายอาญาอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อย 253 เสียงให้ตัดคำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก ให้ใส่คำว่า “ไม่เป็นการเฆี่ยนตี” 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
จากนั้นเป็นการลงมติวาระ 3 ที่ประชุมเห็นด้วย 391 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเห็นด้วยกับข้อสังเกตุ จากนั้นจะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวให้วุฒิสภา พิจารณาต่อไป .-สำนักข่าวไทย