หนานหนิง 6 ก.ย. – กงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง เผยทุเรียนไทยยังคงยืนหนึ่งในจีน และขอให้มองความสัมพันธ์ไทย-จีน ในภาพบวก ส่งเสริมการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นมิตร
นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง กล่าวว่า แม้จีนกับไทย ไม่มีพรมแดนติดกันจึงไม่มีด่านโดยตรงระหว่างกัน แต่ไทยยังสามารถขนส่งสินค้าเข้าจีนได้โดยสะดวกทางด่านเขตปกครองตนเองกว่างซี เช่น ด่านบกโหย่วอี้กวาน โดยผ่านลาว และเวียดนาม ปัจจุบันผลไม้ไทยผ่านการประเมินความเสี่ยงด้านการตรวจกักกันจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน มีจำนวน 23 รายการ นับว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศและเขตแดนต่างๆ ที่จีนอนุญาตให้นำเข้า
มีรายงานว่า ผลไม้สำคัญของไทยที่จีนนำเข้ามากที่สุด 4 ลำดับแรก ในปี 2566 คือ ทุเรียน มะพร้าว ลำไย และมังคุด และจากสถิติการส่งออกทุเรียนจากไทยเข้าจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยเฉพาะทุเรียนจากภาคตะวันออก ทั้งนี้ ทุเรียนที่ออกมาจากพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของ เช่น นครพนม หรือมุกดาหาร ใช้เวลาขนส่งเพียง 1-2 วัน ก็ถึงตลาดจีนที่กว่างซี นับเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทย
ส่วนประเด็นที่มีความกังวลกันว่า ทุเรียนไทยในตลาดจีน มีคู่แข่งใหม่ทั้งจากเวียดนามและมาเลเซียนั้น กงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง ให้ความเห็นว่าจีนเป็นตลาดใหญ่มาก ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน จึงเป็นตลาดที่พร้อมรองรับสินค้าผลไม้จากอาเซียนในปริมาณมาก หากประชาคมอาเซียนร่วมกันหาทางส่งเสริมการส่งออกไปสู่ตลาดจีนด้วยกันก็จะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย เพราะลำพังทุเรียนจากประเทศไทยเพียงแห่งเดียวไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการของผู้บริโภคจีน แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากกว่า คือ การรักษาคุณภาพทุเรียนส่งออกของไทยให้สามารถแข่งขันได้ และครองความนิยมทั้งรสชาติและความปลอดภัย ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ในจีน พยายามร่วมกันดูแลช่องทางการขนส่ง รวมทั้งสร้างบรรยากาศ สร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือที่ดีกับประเทศจีน เพื่อให้สินค้าไทยส่งออกมายังจีนได้สำเร็จ
นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน รวมทั้งประเด็นกลุ่มทุนจีนผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่ในขณะนี้ว่าอยากให้มองความสัมพันธ์ในภาพใหญ่ เนื่องจากในความเป็นจริงมีบริษัทและบรรษัทจีนจำนวนมากที่เข้ามาสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยทั้งในแง่เศรษฐกิจและการจ้างงาน-สร้างรายได้ นอกจากนี้ไทยและจีนยังมีความร่วมมือกันหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว เป็นธรรมดาของความสัมพันธ์ที่จะต้องมีปัญหาและอุปสรรค หนทางดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คือ ร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างเป็นมิตร ถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมกันดูแลเพื่อสร้างประโยชน์และความสุขให้แก่ประชาชน พร้อมกันนี้ยังให้ข้อคิดว่าประเทศไทยมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว เนื่องจากคนจีนรักประเทศไทย และชอบเที่ยวเมืองไทย จึงควรช่วยกันสร้างมิตรภาพและร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี.-810.-สำนักข่าวไทย