กรุงเทพฯ 24 ต.ค. – นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช.และกรมวิชาการเกษตรได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดและตลาดค้าส่ง 14 ราย ได้แก่ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป, บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด, บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท เอกชัย ดีสทรีบิวชั่นซิสเทม จำกัด, ตลาดสี่มุมเมือง, ตลาดศรีเมือง, บริษัท วิลล่ามาร์เก็ท เจพี จำกัด, บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ (โกลเด้น เพลส), บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ดรีเทรล จำกัด, โครงการหลวง, บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท), บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด (แม็กซ์แวลู) และบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมวางมาตรการแก้ปัญหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมดำเนินมาตรการแบบเข้มข้นให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดผลจริงและเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายควบคุมและบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การผลิตให้มีการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เพื่อให้สินค้าผักและผลไม้มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดจะกำหนดมาตรการ เงื่อนไขให้ผู้จัดส่งสินค้าหรือซัพพลายเออร์ทุกรายควบคุมมาตรฐานโรงคัดบรรจุจีเอ็มพี (GMP) และควบคุมแหล่งวัตถุดิบอย่างเข้มงวด เช่น สินค้าผักและผลไม้ควรมาจากฟาร์มมาตรฐานจีเอพี (GAP) ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เข้าระบบมาตรฐานดังกล่าวต้องควบคุมการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยจดบันทึกการใช้สารเคมีที่ใช้ในแปลงเพื่อให้สามารถตรวจสอบต่อไปได้และผลักดันให้เกษตรกรยื่นคำขอรับรองมาตรฐาน GAP แบบรายเดี่ยวหรือรับรองแบบกลุ่ม
“ผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดส่วนใหญ่ให้ความสนใจที่จะนำระบบตามสอบด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาใช้ เพื่อให้สามารถตามสอบถึงแหล่งผลิตได้ ซึ่ง มกอช.จะให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบฯ กระทรวงเกษตรฯ และผู้ประกอบการจะได้ร่วมกันตรวจสอบสินค้า ติดตามเฝ้าระวังสุ่มตรวจผักและผลไม้ในห่วงโซ่การผลิตทั้งโมเดิร์นเทรดและตลาดค้าส่ง และจะตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิต หากพบปัญหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP โรงคัดบรรจุ GMP และระบบอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่ เพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้เกิดมาตรฐานและมีความปลอดภัยในระยะยาว พร้อมตรวจสอบความถูกต้องของใบรับรองมาตรฐานดังกล่าวอย่างเข้มข้นด้วย” นางสาวดุจเดือน กล่าว
นอกจากนี้ จะเร่งจัดส่งข้อมูลค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRL) ที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการปรับปรุงล่าสุดปี 2559 ให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงค่า MRL ให้ทันสมัยและสอดคล้องกันระหว่าง 2 หน่วยงาน เพื่อยกเลิกค่า MRL ที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งนี้ หลายรายการได้มีการกำหนดเพิ่มค่า MRL จากเดิมที่ไม่เคยกำหนดและมีการกำหนดค่าใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารอย่างถูกต้องต่อไป.-สำนักข่าวไทย