กรุงเทพฯ 22 ส.ค. – “พิชัย” รมว.คลัง แนะรัฐบาลใหม่ สร้างตลาดกลางซื้อขายคาร์บอนเครดิต หวังทุกฝ่ายร่วมผลักดัน ESG รองรับกระแสโลก
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมนา ประชาชาติ ESG Forum 2024 “พลิกวิกฤตโลกเดือด” ว่า การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส รัฐบาลใหม่ จึงต้องมุ่งดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ESG ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การผลักดัน ระบบคำนวณ คาร์บอนเครดิต เพื่อให้ชาวโลกรับรู้ว่าไทยเดินหน้าด้านสิ่งแวดล้อม 2.การสร้างนโยบาย กฎระเบียบ ผลักดันคาร์บอนเครดิตอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับต่างชาติ 3.การสร้างตลาดกลาง ซื้อขายให้เกิดขึ้น และสร้างระบบภาษี คาร์บอนแท็กให้เกิดขึ้น
รัฐบาลใหม่ ต้องสร้างตลาดกลางซื้อขายจริงจังในประเทศไทย โดยมีราคาอ้างอิงชัดเจน การเทียบราคากับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับกระแสโลกให้ทัน เพราะตลาดกลางขายคาร์บอนเครดิตในสิงคโปร์ ดำเนินการไปแล้ว ราคา 34 ดอลลาร์สหรัฐ/ตันคาร์บอน ขณะที่ตลาดโลกราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนคาร์บอนเครดิตของไทย ยังมีราคา 2 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องเร่งให้เกิดตลาดกลางอย่างจริงจัง ขณะนี้เงินลงทุนต่างชาติอาจไหลเข้าประเทศนับ 2 ล้านล้านบาท โดยต้องการลงทุนด้านพลังงานสีเขียว การดูแลสิ่งแวดล้อม ไทยจึงต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานจากเขื่อน การใช้โซล่าเซลล์ และด้านอื่น เพื่อให้สากลเชื่อถือ ยอมรับเป็นคู่ค้า การลงทุนกับต่างชาติ เพราะต่างชาติได้เน้นการลงทุนด้าน ESG
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงษ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ กล่าวว่า ESG กลายเป็นกติกาโลกใหม่ เมื่ออาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางเติบโตของโลกใหม่ ยอมรับว่าไทยยังห่างไกลเป้าหมายโดยรวมอย่างมาก การลงทุนด้าน ESG มีเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลท.จึงมุ่งผลักดัน ESG ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ หนุนการลงทุนอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงผู้ออมเงินในธุรกิจ ESG ตลท.ได้เน้นจัดทำแพลตฟอร์ม ESG Data เพื่อยกระดับบริษัทจดทะเบียน เชื่อมต่อกับนักลงทุน
ตลท.หวังสร้าง Ecosystem ในการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนไทย และยังได้จัดตั้ง Thailand ESG Fund หลังประชาชนยังลงทุนใน Thai ESG ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 106,053 ราย มียอด 1 แสนราย จึงตั้งเป้าหมายให้บริษัทจดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เช่น บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มร้อยละ 47 การประเมิน SET ESG Rating เพิ่มร้อยละ 20 โดยต้องดึงทุกฝ่ายร่วมทำด้านความยั่งยืน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ได้นำรายได้จากธุรกิจใหญ่มาอุดหนุนธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อดูแลสังคม มุ่งเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สิน ให้มีโอกาสกลับมามีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงชีพยั่งยืน เพื่อไม่ให้เสียประวัติการเงินด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 1.1 ล้านคน การบรรเทาภาระหนี้ ด้วยการลดดอกเบี้ย MRR 8.5 แสนราย ดูแลให้พ้นหนี้ NPL ด้วยการยกหนี้ให้รายย่อย 7.2 แสนราย การร่วมกับมหาวิทยาลัย 67 แห่ง วิทยาลัย 54 แห่ง วิทยลัยสารพัดช่าง ช่วยทำหลักสูตรพัฒนาอาชีพ 403 หลักสูตร หวังช่วยคนให้มีรายได้ มีอาชีพ 4.1 แสนคน สร้างช่องทางขาย 3.8 หมื่นร้านค้า การดูแลสังคม จึงเป็นจุดยืนหลักของธนาคารออมสิน
นายคงกระพันธ์ อินทรแจ้ง ปตท. กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการเก็บคาร์บอนเครดิตให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อนาคตยังเตรียมนำพลังงานไฮโดรเจน มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดการใช้คาร์บอน หากไทยผลิตไฮโดรเจนได้ราคาถูกลง บริษัทในกลุ่ม ปตท. พร้อมนำมาใช้ในภาคธุรกิจมากขึ้น การร่วมมือกับภาครัฐผลักดันให้มีการใช้พลังงานไฮโดรเจนมากขึ้นในประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero. -515- สำนักข่าวไทย