04 สิงหาคม 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางกระทู้ของเว็บไซต์ 4chan โดยเจ้าของบัญชี z9qiQ4hq อ้างว่าตนเองมีชื่อว่า โจนาธาน วิลลิส หนึ่งในนักแม่นปืนที่ปลิดชีพ โทมัส แมทธิว ครูกส์ มือปืนที่ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2024 โดยอ้างว่าเห็นผู้ลอบสังหารก่อนการลั่นกระสุนถึง 3 นาที แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้ากรมกิจลับสหรัฐ (U.S. Secret Service) ให้กระทำการใด ๆ
หลังสังหารมือปืนในเวลาต่อมา ผู้โพสต์ที่อ้างว่าตนคือ โจนาธาน วิลลิส เปิดเผยว่าตนเองถูกจับกุมและถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เขาถูกปล่อยตัวใน 1 ชั่วโมงต่อมาและถูกให้ออกจากหน้าที่นักแม่นปืน
บทสรุป :
- Secret Service ยืนยันว่า โจนาธาน วิลลิส ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของ Secret Service
- ข้อความโพสต์จากเว็บไซต์ 4chan ซึ่งผู้โพสต์ไม่ต้องพิสูจน์ตัวตน และมักเป็นแหล่งเผยแพร่ข่าวปลอม
- ภาพเจ้าหน้าที่ Secret Service กำลังยิ้มหลังการลอบสังหารเป็นภาพตัดต่อดัดแปลง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้ออ้างดังกล่าว ถูกนำไปเผยแพร่ต่อทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายแพลตฟอร์ม โดยมียอดชมทาง X (Twitter) ถึง 11 ล้านครั้ง
อย่างไรก็ดี เนท ฮาร์ริง โฆษกของกรมกิจลับสหรัฐ ในสังกัดกระทรวงความมั่นคงภายในสหรัฐ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนผ่านทางอีเมลว่า ไม่มีลูกจ้างของกรมกิจลับสหรัฐรายใดใช้ชื่อดังกล่าว ข้อความที่กล่าวอ้างเป็นเท็จทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยชื่อของนักแม่นปืนที่สังหาร โทมัส แมทธิว ครูกส์ อีกด้วย
จากการตรวจสอบโดย Politifact พบว่าเจ้าของบัญชี z9qiQ4hq เริ่มโพสต์ข้อความทาง 4chan เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2024 หรือ 1 วันหลังเหตุลอบสังหาร โดยทั้ง 4 ข้อความถูกโพสต์ในวันเดียวกันนั้น
จากการเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถโพสต์ได้โดยเจ้าของบัญชีไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ทำให้ 4chan กลายเป็นแหล่งเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดบ่อยครั้ง เช่น ทฤษฎีสมคบคิดของกลุ่ม QAnon
จนท. Secret Service เผลอยิ้มระหว่างช่วย โดนัลด์ ทรัมป์
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าการลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน เป็นสิ่งที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า หลังมีการแชร์ภาพถ่ายที่พบว่า ทั้งเจ้าหน้าที่กรมกิจลับสหรัฐ (U.S. Secret Service) และตัว โดนัลด์ ทรัมป์ ต่างกำลังเผลอยิ้มในเหตุการณ์ลอบสังหาร เหมือนกำลังซ้อมเหตุการณ์ลอบสังหารล่วงหน้า
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบโดย Fact Checker พบว่า ภาพที่ถูกแชร์เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดัดแปลงรูปภาพให้เกิดความเข้าใจผิด
ภาพต้นฉบับที่ถูกนำไปบิดเบือน เป็นผลงานการถ่ายภาพโดย เอวาน วุชชี ช่างภาพของสำหนักข่าว AP
โดยภาพต้นฉบับที่ไม่ถูกดัดแปลง แสดงสีหน้าเรียบเฉยของเจ้าหน้าที่กรมกิจลับสหรัฐระหว่างคุ้มกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ลงจากเวทีปราศรัย
ส่วนใบหน้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ บ่งบอกถึงความเครียดหลังจากถูกกระสุนยิงที่หูข้างขวา
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/fact-check/jonathan-willis-is-not-secret-service-employee-says-spokesperson-2024-07-18/
https://www.politifact.com/factchecks/2024/jul/15/instagram-posts/anonymous-4chan-post-isnt-first-hand-secret-servic/
https://www.factcheck.org/2024/07/false-claim-about-fake-secret-service-agent-contributes-to-rally-conspiracy-theories/
https://apnews.com/article/fact-check-trump-shooting-secret-service-smiling-photo-427049284678
https://www.reuters.com/fact-check/images-trump-secret-service-smiling-after-shooting-are-fake-2024-07-14/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter