จ.สงขลา 23 ส.ค.-กรมอุทยานฯ ลงพื้นที่ติดตามการค้าสัตว์ป่าตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นช่องทางลักลอบค้ามากที่สุดในภาคพื้นดิน ขณะที่ องค์กรไวล์ดเอด ร่วม”เฉินหลง”รณรงค์เลิกบริโภค “ตัวลิ่น”ในจีน-เวียดนามวันนี้วันแรก
นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามเส้นทางลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะตัวลิ่น ลิงอุรังอุตัง งาช้าง ที่ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์ จ.สงขลา และลงพื้นที่การลาดตระเวนร่วมบริเวณรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งจากการรายงานสถสนการณ์ของทุกหน่วบงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด่านศุลกากร ตำรวจ ทหาร ประมง พบว่า สถานการณ์การลักลอบค้าสัตว์ป่าผ่านประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงปลายปี จะตัองเพิ่มการเฝ้าระวัง ป้องกันและสกัดกั้นมากขึ้นเพราะเป็นช่วงที่ประเทศปลายทางเข้าสู่ฤดูหนาว ความต้องการบริโภคจึงเพื่มขึ้น
โดยสถิติการจับกุม ผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าผ่านบริเวณริมกำแพงไทยมาเลเซียและช่องทางตรวจค้นผู้โดยสารขาเข้าด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ตั้งแต่ปี 2558-2560 ของด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์ มีจำนวน3คดี ของกลาง ได้แก่ ลิ่นรวม 208 ตัว ซากลิ่น 2ตัว เกล็ดลิ่น2.1 กิโลกรัม เต่าเสือดาว 2ตัว ปะการัง 49 ถุง เต่าแฮมิลตัน 39 ตัว เต่าดาวอินเดีย 12 ตัว แรคคูน 2 ตัวและลูกลิงอุรังอุตัง2 ตัว
ด้านนางสาวราเบีย มุสตัค เจ้าหน้าที่องค์กรไวล์ดเอด ช่วยสัตว์ป่า (WildAid) ประเทศไทย ซึ่งร่วมติดตามปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าผ่านประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ไวล์ดเอด ได้เปิดตัวแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับตัวลิ่น เป็นวันแรกโดยมีดารานักแสดงชื่อดังเฉินหลง หรือ แจ๊กกี้ ชาน ร่วมแสดงโดยใช้ชื่อว่า ” Jackie Chan-Kung Fu Pangolin” เนื้อหาของคลิปความยาว 47 วินาทีต้องการสื่อและรณรงค์ให้เห็นว่าคนยังมีหลายวิธีในการต่อสู้กับศัตรูได้ แต่ตัวลิ่น ทำได้เพียงแค่ม้วนตัวเป็นลูกกลมๆเท่านั้น แต่ภายหลังจากกฎของทางCITES ปรับตัวลิ่นทั้ง 8 สายพันธุ์ทั่วโลกขึ้นบัญชี 1 ประเทศจีน ออกกฎหมายและห้ามบริโภคตัวลิ่น ทำให้ตัวลิ่นในวิดีโอนี้มีช่องทางในการต่อสู้มากขึ้น สำหรับวิดีโอดังกล่าวเปิดตัวที่จีน และเวียดนาม เป็นวันแรก
การณรงค์ครั้งนี้เนื่องจากพบว่ากลุ่มบริโภคตัวลิ่น ยังอยู่ในประเทศจีน เวียดนาม ทั้งการบริโภคเนื้อ เลือด และการนำเกล็ดลิ่นมาใช้ไปผลิตยาบำรุงร่างกาย ทำให้มูลค่าราคาขายลิ่นสูงถึงกิโลกรัมละเกือบ 30,000 บาท.-สำนักข่าวไทย