กรุงเทพฯ 18 พ.ค. – อธิบดีกรมควบคุมมลพิษระบุ ในช่วงต้นฤดูฝน อาจเกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ สาเหตุจากการชะล้างสิ่งปนเปื้อนจากแผ่นดินลงสู่แหล่งน้ำ เตือนผู้ประกอบการสารเคมีให้จัดเก็บอย่างปลอดภัย ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังต้องระวังภาวะ “น็อกน้ำ” ขาดออกซิเจนจนทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมากๆ ได้
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จะเกิดการชะล้างสิ่งปนเปื้อนต่างๆ จากแผ่นดินที่สะสมลงสู่แหล่งน้ำจำนวนมาก เช่น น้ำเสียที่ตกค้างอยู่ในท่อระบายน้ำเสีย น้ำชะจากพื้นที่เกษตร กองขยะ กองวัสดุ สารเคมี วัตถุอันตรายต่างๆ อาจทำให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เช่น ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง ความขุ่นและตะกอนแขวนลอยเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดินทั่วประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน จะพบว่า แหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น
ปัญหาที่มักพบในช่วงฝนตกหนักและต่อเนื่องคือ แหล่งกำเนิดมลพิษอาจลักลอบปล่อยน้ำเสียรวมกับน้ำหลากที่เกิดขึ้น หรือระหว่างการเกิดพายุฝน ทั้งลมที่รุนแรงและปริมาณน้ำฝนที่มาก อาจเป็นเหตุให้บ่อเก็บกักน้ำเสียของโรงงานพังทลายเกิดน้ำเสียปนเปื้อนส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ใกล้เคียงหรือแหล่งน้ำสาธารณะได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเฝ้าระวังแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ของตนเองทั้งในช่วงต้นฝนที่กำลังจะถึงในอีก 2 – 3 สัปดาห์นี้ และตลอดช่วงฤดูฝน
นอกจากนี้ควรต้องเตรียมรับมือในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังหรือการเพาะเลี้ยงในช่วงฝนแรก อาจทำให้เกิดภาวะ “น็อกน้ำ” (Fish kill) คือ การขาดออกซิเจนในน้ำอย่างรุนแรงถึงขั้นตายกระชังได้ โดยให้เปิดเครื่องตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนและควรลดปริมาณอาหารหรืองดให้อาหารในวันที่ฝนตกซึ่งเป็นการลดปริมาณของเสียในแหล่งน้ำหรือบ่อเลี้ยง
พร้อมกันนี้แจ้งเตือนผู้ประกอบการโรงงานและสถานประกอบกิจการ ให้จัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตรายที่ใช้ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบ้านเรือน ให้อยู่ในที่ปลอดภัยและพ้นน้ำ ดูแลบ่อเก็บกักน้ำเสีย/บ่อบำบัดน้ำเสียและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไม่ให้เกิดการรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม
หากพบปัญหาน้ำเสียหรือสารเคมีรั่วไหล ประชาชนผู้พบเหตุสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินมายัง คพ. ผ่านทางสายด่วน 1650 . 512 – สำนักข่าวไทย