รัฐ-เอกชน ร่วมถก “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร”

กรุงเทพฯ 25 เม.ย.-รัฐ-เอกชน ตั้งวงเสวนา ถกโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ที่เป็นธรรมกับทุกภาคส่วน  ด้าน สนพ.แย้มเปิดรับฟังความเห็นแผน PDP 2024 เดือนหน้า ชี้โลกเปลี่ยน ปรับทิศชี้วัดความมั่นคงใหม่ จับเกณฑ์ไฟฟ้าดับไม่เกิน 17 ชม.ต่อปีแทนปริมาณสำรองไฟฟ้า ด้านเอกชนแนะยกเลิกปรับ Ft ทุก 4 เดือน – เปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแทนระบบ BES-Enhanced Single Buyer 


หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน จัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร”  โดยมีนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ”  โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) ว่า อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพยากรณ์ และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้  จากนั้นจะเปิดรับฟังความจากประชาชนภายในเดือนหน้า

นายวีรพัฒน์  ยังได้เปิดเผยถึงแนวทางหลักในการจัดทำแผน PDP 2024 ว่ามุ่งเน้น 3 ส่วนหลัก คือ 1.ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ 2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ราคาเป็นธรรม และเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขัน และการบริหารจัดการ เพื่อนำการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Energy Resource : DER) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และ3.จำกัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า 


นอกจากนี้ จะมีการเปลี่ยนไปใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) เป็นเกณฑ์ความมั่นคง แทนการใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin)  โดยเกณฑ์ LOLE ต้องไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หรือไม่เกิน 17 ชั่วโมงจาก 8,760 ชั่วโมง ส่วนเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนใหม่ ปลายแผน หรือ พ.ศ.2580 ต้องมีสัดส่วนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ตามแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายของมาตรการเปลี่ยนแปลงพฤติกกรรมการใช้ไฟฟ้า ( Demand response ) 1,000 เมกะวัตต์ และมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak) โดยใช้ DER รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่จะ โดยมีการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้นในอนาคต

ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ที่จะนำมาพิจารณาในแผน  ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ, รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ, Solar/ Solar Floating /Solar + BESS (Battery Energy Storage System 🙂  และมีพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือกด้วย ส่วนเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาเป็นทางเลือก อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน  (Carbon  Capture Utilization and Storage ) เทคโนโลยีแอมโมเนีย เป็นต้น ขณะที่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือ 41.5 ล้านตันคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 ตามตัวเลขของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)  

“ความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยหันมาใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนต้นทุนยังสูง และไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อทำให้ระบบมีความมั่นคง เนื่องจากต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วง 2 ปีมาอยู่ในเวลากลางคืน ยกตัวอย่างในระหว่าง 22-24 เมษายน 2567 พีกไฟฟ้าเกิน 35,000 เมกกะวัตต์ ต่อเนื่อง 3 วัน และเกิดในช่วงกลางคืน ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ไม่สามารถรองรับได้”นายวีรพัฒน์กล่าว


สำหรับช่ววเสนาแลกเปลี่ยนความรู้ ในหัวข้อ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย   นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ,ดร.ชนะภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ,นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใช้มากขึ้น ช่วงนี้ราคา LNG ค่อนข้างมีเสถียรภาพ  อยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซฯ ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด  ปตท.มีสถานะเป็นผู้นำเข้ารายหนึ่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. ยังมีผู้นำเข้าอีกหลายราย  การผลิตไฟฟ้านับวันก็มีความท้าทายมากขึ้นตามลำดับ เพราะโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และAI ที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าโตอีกเป็นเท่าตัว  หัวใจสำคัญคือการผสมผสานที่สมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีกับระบบการกำกับดูแล ซึ่งทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่ต้องพิจารณาในเรื่องราคาที่ต้องสะท้อนต้นทุนเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประเทศในระยะยาว รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น ที่สำคัญคือการสื่อสารกับประชาชน

ดร.ชนะ ภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ย้ำว่าไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ ไฟฟ้าตกดับเพียง 1 นาทีกระทบเป็นเงินถึง 5 แสนบาทต่อครั้ง ปัจจุบันโรงงานปูนซิเมนต์ที่สระบุรี ได้นำเทคโนโลยีผลิตพลังงานใช้เองมากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง เหลือ 12,000-13,000 ล้านบาท จากเดิมเคยจ่าย 20,000 ล้านบาท  ซึ่งเราพร้อมเป็นโมเดลให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้  

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น  ประเทศไทยจึงควรต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้ทันสมัย เช่น ควรยกเลิกการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่ปัจจุบันมีการปรับทุก 4 เดือน และหันมาสนับสนุนการกักเก็บพลังงาน ( Energy Storage) ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโหลดของผู้ใช้ รวมถึงสร้างทางเลือกการซื้อขายไฟฟ้าได้หลายแหล่งและหลากหลาย

ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  ที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นจำเลยสังคมาโดยตลอด เพราะการสนับสนุนในช่วงแรกจากระบบการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าทำให้ต้นทุนของระบบสูง แต่หากรัฐไม่อุดหนุน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไทยก็ไม่สามารถเดินหน้ามาได้จนถึงทุกวันนี้  พร้อมเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก BES-Enhanced Single Buyer ไปสู่การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เอกชนสามารถซื้อขายกันเองได้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE 100 ของ FDI การส่งออก และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า ค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงอยู่ภายใต้นโยบายและแผน เพราะโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต้องใช้การวางแผนล่วงหน้า ต้องยอมรับว่าค่าเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะ LNG ซึ่งนอกจากต้ำคำนึงถึงราคา ยังต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆมารองรับ  อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศมีนโยบายดูแลคนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าแตกต่างกัน  ยกตัวอย่างเวียดนามมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสัดส่วนสูง แต่ก็มีไฟฟ้าตกดับบ่อย มีการอุดหนุนค่าไฟให้กับกิจการขนาดใหญ่ แต่ก็ปล่อยราคาสะท้อนต้นทุนกับกิจการขนาดกลาง เป็นต้น ส่วนสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีทรัพยากรไม่มากนัก ก็ใช้ระบบเปิดเสรีราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เป็นต้น

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระบุว่า สำหรับแนวทางที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนนั้น เบื้องต้นต้องเคลียร์ต้นทุนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาการอุดหนุน และเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ภาระไปตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชน พร้อมเสนอว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Time of Use Tariff :TOU) เพื่อกระจายช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้า ซึ่งใช้มานานนับสิบปี ควรปรับเปลี่ยนด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็เปลี่ยนไป.-517-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

นร.หญิง ม.1 จมทะเลดับ หลังโรงเรียนพาไปทัศนศึกษาที่ระยอง

โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา พานักเรียนไปทัศนศึกษาที่ จ.ระยอง นักเรียนหญิง ม.1 ถูกคลื่นดูดลงทะเลขณะเล่นน้ำ เสียชีวิต พ่อแม่สุดเศร้าสูญเสียลูกสาวคนเดียวของครอบครัว

น้ำท่วมเชียงใหม่

เชียงใหม่จมบาดาล น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ ยังวิกฤติ หลังน้ำในลำน้ำปิงขึ้นสูงสุดทรงตัวสูงกว่า 5.30 เมตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีการวัดระดับน้ำปิง

น้ำท่วมขนส่งเชียงใหม่กระทบผู้โดยสาร เปิดจุดจอดรับ-ส่งชั่วคราว

น้ำขยายวงกว้างเข้าท่วมสถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 2 และ 3 เต็มพื้นที่ ระดับน้ำสูงเกือบ 50 ซม. ผู้ประกอบการขนส่งต้องนำรถทัวร์โดยสารออกมาจอดรับ-ส่งบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ยืนยันผู้ประกอบการยังให้บริการตามปกติ

ระทึก! แท็กซี่พลิกคว่ำเกิดเพลิงไหม้ 5 ชีวิตรอดหวุดหวิด

รถแท็กซี่พลิกคว่ำและเกิดเพลิงลุกไหม้กลางถนนพระราม 9 ผู้โดยสารหญิงสติดีถีบประตูช่วยตัวเองและคนอื่นออกมาจากตัวรถรวม 5 ชีวิตได้ทัน แต่ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 1 คน เป็นคนขับแท็กซี่ ตำรวจเร่งสอบสวนหาสาเหตุ

ข่าวแนะนำ

กต.ย้ำมีแผนพร้อมอพยพคนไทยในอิสราเอล-เลบานอน

กต.ประชุมประเมินสถานการณ์อิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ย้ำมีแผนอพยพพร้อม เผย 5 แรงงานไทยเตรียมเดินทางกลับ แนะประชาชนตัดสินใจก่อนน่านฟ้าปิด

เตรียมตั้ง 7 เตาไฟฟ้า พิธีพระราชทานเพลิงศพ นร.-ครู 23 คน

เตรียมพื้นที่ตั้ง 7 เตาไฟฟ้า กลางสนามโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ นักเรียน-ครู 23 คน เหยื่อไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา วันที่ 8 ต.ค.นี้

เชียงใหม่ยังอ่วม เจอน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์

แม้ระดับน้ำปิงที่ทะลักท่วมตัวเมืองเชียงใหม่เริ่มลดลง จากที่เคยขึ้นสูงสุดถึง 5.30 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดระดับมา จนทำให้เชียงใหม่เผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ บ้านเรือนหลายพันหลังและย่านการค้ายังจมน้ำ บางจุดยังท่วมสูงกว่า 2 เมตร ยังต้องเร่งอพยพผู้คนออกจากพื้นที่น้ำท่วม หลายคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในรถที่จอดบนสะพาน

ภาคกลางเริ่มกระทบ น้ำเจ้าพระยาเอ่อท่วมบ้านประชาชน

น้ำเจ้าพระยาล้นข้ามถนนเข้าท่วมบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน ต.ชีน้ำร้าย อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ส่วนชุมชุนริมท่าน้ำปากเกร็ด เริ่มกระทบ