รัฐสภา 17 เม.ย.- “นิกร” แถลง 10 ข้อ ผลอนุฯ นิรโทษกรรม เก็บสถิติคดี-แรงจูงใจทางการเมือง จ่อชง กมธ.ชุดใหญ่ พรุ่งนี้
นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดร.ภูมิ มูลศิลป์ เลขานุการคณะอนุกรรมการ ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง สรุปสาระสำคัญได้
- นิยามของ “แรงจูงใจทางการเมือง” มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาการกระทำความผิด ฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรม ซึ่งแรงจูงใจทางการเมืองมีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองหรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
- ข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม คือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเป็นข้อมูลข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนพอสมควรและได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว ต่างจากหน่วยงานอื่นที่ขอไปซึ่งยังขาดความชัดเจนเพียงพอต่อการนำมาใช้ประกอบเป็นข้อมูลสถิตินำเสนอ ทั้งนี้ยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย
- ฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรม เมื่อคณะอนุกรรมาธิการ ได้พิจารณาข้อมูลฐานความผิด โดยนำบัญชีท้าย ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา พ.ศ. ..(คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรมในคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557) ที่กำหนดความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จำนวน 15 ฐานความผิดมาเป็นหลักในการพิจารณา โดยพิจารณาร่วมกับบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสันติสุข พ.ศ. …. (พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอ) กับ ฐานคดีความผิดทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเพิ่มในฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อีก 6 ฐานความผิด เป็น 15 ฐานความผิด และเพิ่มกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมืองอีก 8 ฉบับ จากเดิม 17 ฉบับ รวมเป็น 25 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง 2567
- ข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมืองฐานความผิดจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญ คือ
4.1การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2551
4.2การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2553 (รวมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ นปก.)
4.3การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2557
4.4การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน - ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 โดย พบว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับ เรื่องการปรองดอง การสมานฉันท์ และการนิรโทษกรรมมาหลายคณะแล้ว แต่คณะกรรมการดังกล่าวไม่ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและเป็นเรื่องของความมั่นคงแห่งรัฐ และการที่คณะอนุกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ แล้ว เห็นว่าเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่
- การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชนตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการพ.ศ. 2553 นั้น คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่า เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ควรใช้การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 กับ คดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนก่อนที่จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม
- ข้อมูลความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งจะเห็นว่า จากข้อมูลสถิติในช่วง พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2567 จะมีคดีประมาณ 73,009 คดี เหตุที่มีคดีเป็นจำนวนมากเพราะ เป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงควรนำเรื่องการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมาบังคับใช้
- ความผิดตามกฏหมายว่าด้วยจราจรทางบกพ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องนี้พบว่ามีข้อมูลสถิติเป็นจำนวนมากจึงควรแยกส่วนการพิจารณาเป็นการเฉพาะเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการพิจารณาในภาพรวม และยังอาจนำการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชนมาบังคับใช้ในส่วนนี้ด้วย
- ระยะเวลาในการนิรโทษกรรม นั้น คณะอนุกรรมาธิการ เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาควรพิจารณาจากเหตุการณ์ชุมนุมครั้งสำคัญคือช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคมพ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน
- ขั้นตอนต่อไปของรายงานฉบับนี้ คือ จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้พิจารณาพิจารณาในวันที่ 18 เมษายน 2567 นี้ . 314.-สำนักข่าวไทย