กระทรวงมหาดไทย 17 เม.ย.-มหาดไทยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดโครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ภาคพิเศษ มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมายให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ สืบเนื่องจากการที่กระทรวงมหาดไทยมีแนวคิดที่จะเสริมสร้างและพัฒนานิติกรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้มีวิสัยทัศน์ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม
“มีทัศนคติที่สร้างสรรค์ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม โดยจะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายสำคัญต่างๆ ซึ่งหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหลักสูตรที่ตรงตามเจตนารมณ์ในการพัฒนานิติกรในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น นำองค์ความรู้ที่มีไปใช้ในการสนับสนุนภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ด้านนายปกรณ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดทำคู่มือ ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกาได้จัดทำในรูปแบบเว็ปไซต์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายตลอดจนประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ได้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการอบรมหลักสูตรดังกล่าว สำนักงานกฤษฎีกาได้จัดทำฐานข้อมูล (Data Base) ซึ่งกำลังดำเนินการพัฒนา เพื่อทำให้การสืบค้นข้อมูลสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องมากยิ่งขึ้น หากผลการดำเนินการดีจะขยายผลไปยังส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยด้วย
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย โดยในระยะแรกเริ่ม สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยจะจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ระดับปฏิบัติการก่อน และในระยะต่อไป หากผลการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการกำหนด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จะร่วมมือกันจัดการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาและกฎหมายภาครัฐ ระดับชำนาญการขึ้นไปต่อไป
ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2568 และสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย.-317.-สำนักข่าวไทย