ชัวร์ก่อนแชร์: วัคซีนโควิด-19 ทำให้หนูคลอดลูกเป็นออทิสติก จริงหรือ?

12 เมษายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อมูลสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างงานวิจัยที่พบว่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่หนูที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech มีความเสี่ยงเป็นออทิสติกมากกว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่ไม่ฉีดวัคซีน นำไปสู่การอ้างอย่างผิด ๆ ว่าวัคซีนโควิด-19 เพิ่มความเสี่ยงเป็นออทิสติกหากมีการฉีดในสตรีมีครรภ์เช่นเดียวกัน


บทสรุป :

  1. เป็นการวิจัยในหนูทดลอง ผู้วิจัยย้ำว่าไม่อาจนำผลมาเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนในมนุษย์ได้
  2. เป็นการวิจัยที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ให้ปริมาณวัคซีนกับหนูทดลองเท่ากับปริมาณที่ใช้กับมนุษย์

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

ที่มาของงานวิจัย


งานวิจัยที่กล่าวอ้าง เป็นผลงานของนักวิจัยจากประเทศตุรกี ตีพิมพ์ทางวารสาร Neurochemical Research เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2024

ทีมวิจัยตั้งสมมติฐานว่า โปรตีนหนามจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA อาจส่งผลต่อการอักเสบในร่างกาย นำไปสู่ผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาท โดยเฉพาะในช่วงการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีอาการออทิสติกได้

ทีมวิจัยนำหนูทดลองเพศเมียจำนวน 15 ตัวไปผสมพันธุ์หนูเพศผู้จำนวน 5 ตัว

หลังจากหนูตั้งท้องได้ 13 วัน จึงแบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม ครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech ส่วนครึ่งหนึ่งได้รับน้ำเกลือเป็นยาหลอก

หลังจากลูกหนู 41 ตัวเกิดมาได้ 21 วัน จึงแยกหนูออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ หนูเพศผู้ที่ได้รับวัคซีน หนูเพศผู้ที่ได้รับยาหลอก หนูเพศเมียที่ได้รับวัคซีน หนูเพศเมียที่ได้รับยาหลอก

ผ่านไป 50 วัน จึงนำหนูทั้ง 4 กลุ่มมาทดสอบพฤติกรรมต่าง ๆ อาทิ พฤติกรรมทางสังคม ความกระตือรือร้นต่อสิ่งแปลกใหม่ และทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อ

เมื่อการทดสอบเสร็จสิ้นลง ลูกหนูทดลองทั้ง 41 ตัวจะถูกการุณยฆาต ก่อนนำสมองออกมาตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อสำรวจปริมาณของไซโตไคน์ชนิดต่าง ๆ (Cytokine) ซึ่งเป็นกลุ่มโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อและการอักเสบ

การสำรวจไม่พบว่าหนูกลุ่มที่แม่ได้รับวัคซีนและหนูกลุ่มที่แม่ได้รัยยาหลอก มีปริมาณไซโตไคน์ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

การตรวจสอบเซลล์ประสาทในสมองพบว่า หนูทดลองเพศผู้ที่แม่ได้รับวัคซีน มีเซลล์ประสาทน้อยกว่าหนูทดลองเพศผู้ที่แม่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ดี ไม่พบความแตกต่างในหนูทดลองเพศเมียทั้งกลุ่มที่แม่ได้รับวัคซีนหรือยาหลอก

ทีมวิจัยยังพบว่า หนูทดลองเพศผู้ที่แม่ได้รับวัคซีน ขาดทักษะในการเข้าสังคม และไม่มีความกระตือรือร้นเมื่อเจอหนูจากครอกอื่น ซึ่งผู้วิจัยเปรียบเทียบได้กับพฤติกรรมของเด็กที่เป็นออทิสติก

อย่างไรก็ดี ไม่พบความแตกต่างด้านพฤติกรรมในหนูทดลองเพศเมีย ทั้งกลุ่มที่แม่ได้รับวัคซีนหรือยาหลอก

ผลจากการทดลอง ทีมวิจัยจึงสรุปว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ส่งผลให้หนูทดลองเพศผู้ซึ่งเกิดจากแม่หนูที่ได้รับวัคซีน จะมีอาการคล้ายออทิสติก แต่ย้ำว่าผลวิจัยกับสัตว์ทดลอง ไม่สามารถอ้างอิงกับผลที่จะเกิดกับมนุษย์ได้

มูมิน อัลเปอร์ เออร์โดกัน รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยอิซเมียร์ คาทิป เซเลบี หนึ่งในทีมวิจัยชี้แจงต่อเว็บไซต์ Health Feedback ว่า จุดประสงค์ของงานวิจัย ไม่ได้ต้องการต่อต้านการฉีดวัคซีนโควิด-19 การนำผลวิจัยไปเผยแพร่เพื่อสนับสนุนความคิดส่วนตัวหรือเพื่อการใส่ร้ายทางออนไลน์ สำหรับเขาคือสิ่งไม่ถูกต้อง

ข้อจำกัดของงานวิจัย

นอกจากนี้ เมื่อนำเนื้อหาการวิจัยไปสอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่างานวิจัยชิ้นนี้เต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือหลายประการ

  1. ปริมาณวัคซีนที่ใช้กับหนูเท่ากับฉีดในมนุษย์

ทีมวิจัยใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech ปริมาณ 30 ไมโครกรัมต่อหนูทดลองหนึ่งตัว ซึ่งเป็นปริมาณเทียบเท่ากับที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ 1 คน เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวแล้ว เท่ากับว่าหนูทดลองได้รับปริมาณวัคซีนโควิด-19 มากกว่าที่มนุษย์ได้รับประมาณ 300 เท่า

นอกจากนี้ ข้อจำกัดเรื่องปริมาณวัคซีนในการทดลอง ยังไม่ถูกกล่าวไว้ในงานวิจัยอีกด้วย

มูมิน อัลเปอร์ เออร์โดกัน หนึ่งในทีมวิจัยอ้างว่า เหตุผลที่ใช้ปริมาณวัคซีนเท่ากับมนุษย์ เพราะไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับปริมาณวัคซีน mRNA ที่ใช้ในหนูทดลอง นอกจากนี้ ปริมาณวัคซีนทั่วไปสำหรับใช้สร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์หลาย ๆ ชนิด เช่น ไก่ สุกร อูฐ ก็อยู่ที่ปริมาณ 30-40 ไมโครกรัม ไม่ว่าสัตว์จะมีน้ำหนักตัวเท่าใด

สเตซี บิลโบ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิคุ้มกันทางระบบประสาท มหาวิทยาลัยดุ๊ก สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า ปริมาณวัคซีนแต่ละชนิดต้องผ่านการคำนวณมาอย่างละเอียด เพื่อให้ใช้วัคซีนในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนในปริมาณที่มากกว่าปกติถึง 300 เท่า การพบการเปลี่ยนแปลงในการทดลองจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

เจฟฟรีย์ มอร์ริส ผู้อำนวยการศูนย์ชีวสถิติ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา อธิบายต่อ FactCheck.org ว่า ปริมาณโดสของวัคซีนในหนูทดลองที่สูงถึง 300 เท่าเมื่อเทียบกับน้ำหนักของมนุษย์ ทำให้ผลวิจัยไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับผลที่จะเกิดกับมนุษย์ได้ หากเขาเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของงานวิจัย เขาจะบอกให้ผู้วิจัยเน้นถึงปริมาณวัคซีนเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณที่ใช้กับมนุษย์ และย้ำว่าสิ่งนี้คือเหตุผลสำคัญที่ไม่อาจนำผลวิจัยมาเปลี่ยนเทียบกับสิ่งที่จะเกิดกับคนที่ได้รับวัคซีนเช่นกัน

  1. กลุ่มตัวอย่างน้อยเกินไป

การทดลองครั้งนี้ ใช้หนูในการทดสอบปฏิกิริยาชีวเคมีเพียงแค่ 7 ตัว คือหนูเพศผู้ที่ได้รับยาหลอก 3 ตัว และหนูเพศผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 ตัว ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

  1. ไม่ใช่การทดลองแบบ Blind Test

ในงานวิจัยไม่ได้ระบุว่า การทดลองเป็นแบบ Blind Test ทำให้ผู้วิจัยรู้ว่าหนูทดลองแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนหรือไม่ อาจนำมาซึ่งความลำเอียงระหว่างการสังเกตพฤติกรรมหนูทดลอง

การไม่ระบุตัวแปรของการทดลอง

เทเรซา เรเยส ศาสตราจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยาระบบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซินซินแนติ สหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่า ยังมีตัวแปรสำคัญ 3 อย่างที่ไม่ได้รับคำอธิบายจากงานวิจัยครั้งนี้ ได้แก่

  1. ระยะเวลาตั้งครรภ์ของแม่หนูทดลอง

หากระยะเวลาตั้งครรภ์มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ หนูที่มีความผิดปกติจากการคลอดก่อนกำหนด อาจมีปัจจัยจากอายุครรภ์ของแม่หนูมากกว่าการฉีดวัคซีน

  1. น้ำหนักตัวของแม่หนูทดลอง

หากน้ำหนักตัวของแม่หนูทดลองมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อาจบ่งบอกถึงการป่วยหนักของแม่หนูที่ได้รับวัคซีน ซึ่งอาจส่งผลต่อการทดลองเช่นกัน

  1. Litter Effects พฤติกรรมคล้ายกันของสัตว์จากครอกเดียวกัน

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือการที่หนูทดลองในกลุ่มเดียวกันมีพฤติกรรมคล้ายกัน อาจมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Litter Effects หรือพฤติกรรมคล้ายกันของสัตว์จากครอกเดียวกัน มากกว่าอิทธิพลจากวัคซีน

คริสโตเฟอร์ โค ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตประสาทภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ผู้มีผลงานศึกษาผลกระทบจากการติดเชื้อและการอักเสบระหว่างการตั้งครรภ์ต่อตัวอ่อน ยอมรับว่า หากเขาร่วมทดลองในงานวิจัยครั้งนี้ เขาจะเพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับวัคซีนโดสต่ำ เพื่อดูว่าปริมาณของวัคซีนมีผลต่อหนูทดลองแค่ไหน

คริสโตเฟอร์ โค ย้ำว่า ผู้วิจัยและนักวิชาการที่ตรวจสอบงานวิจัย ควรจะทำการทดลองซ้ำเพื่อยืนยันผลวิจัย แทนที่จะรีบตีพิมพ์งานวิจัยที่ไม่สมบูรณ์จากการทดลองเพียงแค่ครั้งเดียว

ผลประโยชน์ทับซ้อน

นอกจากนี้ Health Feedback ยังพบว่า ทีมวิจัยไม่ได้ระบุผลประโยชน์ทับซ้อนในงานวิจัย ทั้ง ๆ ที่มีการใช้ซอฟต์แวร์และระบบวิเคราะห์พฤติกรรมด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ร่วมพัฒนาโดย มูมิน อัลเปอร์ เออร์โดกัน หนึ่งในผู้วิจัย มาใช้เพื่อศึกษาพฤติกรรมของหนู

ซึ่งผู้วิจัยยอมรับว่าจะระบุผลประโยชน์ทับซ้อนส่งในงานวิจัยฉบับแก้ไขต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงออทิสติก

ความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคออทิสติกมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจากพันธุกรรมและตัวแปรอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดจากพ่อแม่สูงวัย การคลอดก่อนกำหนดชนิด Extreme Prematurity หรืออายุครรภ์ไม่ถึง 28 สัปดาห์ รวมถึงทารกที่เกิดมาด้วยน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ เป็นต้น

วัคซีนไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงออทิสติก

แม้จะมีการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดว่าการฉีดวัคซีนในแม่และเด็ก เพิ่มความเสี่ยงการป่วยเป็นออทิสติก แต่การศึกษาวิจัยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้ว่าการฉีดวัคซีนไม่มีความสัมพันธ์ต่อการป่วยเป็นโรคออทิสติกในเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือการฉีดวัคซีนรวมโรคคอตีบ โรคไอกรน และบาดทะยักระหว่างตั้งครรภ์ของมารดา

ในส่วนของวัคซีนโควิด-19 นอกจากจะไม่พบผลเสียของการฉีดวัคซีนระหว่างตั้งครรภ์แล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังมีส่วนช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดและการแท้งบุตรอีกด้วย

โฆษกของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันว่า ข้อมูลความปลอดภัยจากการใช้วัคซีนในสหรัฐอเมริกายืนยันว่า วัคซีนชนิดไหน ๆ รวมถึงวัคซีนโควิด-19 ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคออทิสติก

ข้อมูลอ้างอิง :

https://healthfeedback.org/claimreview/rat-study-alleged-link-covid-vaccines-autism-cannot-generalized-humans-important-limitations/
https://www.factcheck.org/2024/01/scicheck-viral-posts-misuse-rat-study-to-make-unfounded-claims-about-covid-19-vaccines-and-autism/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

เปิดปมสังหารยกครัว 4 ศพ แค้นชู้สาว

เปิดปมเหตุสลดฆ่ายกครัว 3 ศพ ก่อนผู้ก่อเหตุยิงตัวเองเป็นศพที่ 4 ใน จ.สมุทรปราการ พบข้อมูลว่าความแค้นครั้งนี้มาจากเรื่องชู้สาว แต่ลูกชายของผู้ตายยังไม่เชื่อว่าแม่มีความสัมพันธ์กับมือปืน แต่ยอมรับมือปืนให้เงินแม่ใช้ทุกวัน

ศาลไม่ให้ประกัน “สามารถ” ชี้พฤติการณ์ร้ายเเรง

ทนายเผยศาลไม่ให้ประกัน “สามารถ” เพราะพฤติการณ์ร้ายเเรง เตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งประกัน ด้าน “แม่สามารถ” วอนผู้มีอำนาจอย่าเอาความลูกชายตน ลั่นหลังจากนี้จะสู้เพื่อความยุติธรรม