รัฐสภา 9 เม.ย.- สว. ชี้สถานการณ์สู้รบในเมียนมา ต้องเฝ้าระวัง ห่วงผู้หนีภัยทะลักเข้าไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา (สว.) ได้พิจารณารายงานศึกษา เรื่อง ผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมาและผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมาในประเทศไทย ซึ่งกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา พิจารณาแล้วเสร็จ
โดยนายถวิล เปลี่ยนศรี สว. ในฐานะ อนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย กล่าวรายงานเนื้อหาตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมือง รวมถึงผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยต้องรับภาระ ว่า กลุ่มคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย 4-5 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งมีทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว, กลุ่มผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย และกว่า 40 ปีที่มีผู้หลบหนีเข้าเมือง บางกลุ่มประเทศไทยยังต้องแบกรับ เพราะปัญหาเกิดง่ายแต่แก้ไขยาก โดยเฉพาะการส่งกลับไปยังประเทศแม่ของผู้ลี้ภัย เช่น ในกรณีของม้งลาว
นายถวิล กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์สู้รบในเมียนมา พบว่าทหารเมียนมายึดพื้นที่ชายแดน ทำให้มีผู้หนีภัยสงครามในประเทศไทย กว่า 7.7 หมื่นคน สำหรับข้อเสนอคือ ตั้งถิ่นฐานประเทศที่สาม หรือ แปรสภาพให้เกิดประโยชน์ของไทย เพื่อปิดศูนย์พักพิงใน 4 จังหวัดทั้งหมดได้ ทั้งนี้หลังสถานการณ์สู้รบ ปี 65 พบว่ามีผู้หนีภัยสงครามจากเมียนมาอีก ซึ่งการประเมินพบว่าสามารถให้พำนักได้ชั่วคราว เพราะไม่เกิดการปิดพื้นที่ชายแดน ดังนั้นจึงสามารถส่งกลับได้ เพื่อแก้ปัญหาให้จบได้
“สถานการณ์เมียนมา ไม่แน่นอน ปัจจุบันเจอปัญหา 2 กระทบ ไม่ใช่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา กับชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์แนวชายแดน และยังมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลผลัดถิ่น มีการต่อสู้ที่เข้มแข็ง ดังนั้นสถานการณ์ไม่สงบ แต่การแก้ปัญหาผู้หนีภัย ที่วางรากฐานและบทเรียนแก้ปัญหาได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา” นายถวิล กล่าว
ขณะที่ พล.ร.อ.พัลลภ ศมิศานนท์ สว. อภิปรายว่า ตนมองว่าการสู้รบในเมียนมาจะยังคงหนักหน่วง และคาดว่าจะมีผู้อพยพเข้ามาในประเทศ อีกทั้งเชื่อว่าการสู้รบระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อย จะเข้าสู่จุดผกผันได้ ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงประเมินทางแก้ระดับมหภาคด้วย เพื่อไม่ให้ไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์สู้รบในเมียนมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของ สว. ได้แสดงความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์สู้รบในพื้นที่เมียนมาที่คาดว่าจะกระทบในประเด็นสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงประเทศไทย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลศูนย์ผู้อพยพที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบร่วมด้วย จึงมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลด้วยว่าควรบริหารจัดการผู้อพยพในศูนย์พักพิง.-312.-สำนักข่าวไทย