รัฐสภา 29 มี.ค.-สภาฯ ถกญัตติอำนาจรัฐสภา หลังประธานรัฐสภา ไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทย-ก้าวไกล เข้าวาระ เพราะขัดคำวินิจฉัยศาล “พริษฐ์” มอง ส่งศาล รธน.ชี้ขาด เหมือนยื่นดาบให้คนไม่เห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งต่อที่ประชุมวิปสามฝ่ายตกลงกันว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง รัฐบาล 2 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา 2 ชั่วโมง
นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเองและคณะ 123 คน ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 256 (1) และ (2) รัฐธรรมนูญปี 2560 เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ … โดยมีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งประธานรัฐสภา ไม่ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ เห็นว่าขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า พรรคก้าวไกลสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนโดยเร็วที่สุด ยอมรับว่า รู้สึกหนักใจภายใต้ความพยายามหลายฝ่ายที่จะบรรลุเป้าหมาย แต่รัฐสภาพยายามส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยทุกครั้งที่รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยเฉพาะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนเป็นการยื่นดาบให้คณะตุลาการ 9 คน ที่แต่งตั้งโดยกลุ่มคนที่ไม่ได้อยากเห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กลุ่มคนดังกล่าวมีอำนาจฟันธงชี้ขาดว่ารัฐสภาแห่งนี้ทำอะไรได้หรือไม่ได้
“ที่ผ่านมาเป็นเหมือนกล่องสุ่ม ที่ไม่เป็นคุณต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สาเหตุที่ทำให้เราต้องมาพิจารณาญัตติดังกล่าว เนื่องจากประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยอ้างว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/ 2564 ยืนยันว่าการตัดสินใจของประธานรัฐสภาไม่ถูกต้อง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่าง ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งมีเหตุผลสอดคล้องกันจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างไร”นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวเปรียบเทียบเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับซึ่งคล้ายกัน มีการเสนอให้แก้ไขมาตรา 256 และหมวด 15/1 ทำให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกบรรจุและพิจารณาเห็นชอบโดยรัฐสภา ในมาตรา 256 (8) แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดชัดเจนว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากผ่านความเห็นชอบ 3 วาระของรัฐสภา จำเป็นจะต้องจัดทำประชามติ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบของประชาชนจะมี ส.ส.ร.เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนอีกครั้งหนึ่ง จึงขอตั้งคำถามว่ากระบวนการเหล่านี้ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อดูคำวินิจฉัยศาลธรรมนูญที่ 4/2564 เขียนไว้ว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งหมายถึงการทำประชามติ 2 ครั้ง หนึ่งครั้งก่อนที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอีกหนึ่งครั้งหลังจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ตนเองได้รับข้อมูลมาว่า เหตุผลที่ประธานรัฐสภาไม่บรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าในระเบียบวาระเพราะตีความคำว่า “เสียก่อน” ต่างออกไป โดยตีความว่า “เสียก่อน” คือการทำประชามติเสียก่อนมีการเสนอร่างแก้ไขฉบับใดๆ เข้าสู่รัฐสภา จึงตัดสินใจไม่นำเรื่องดังกล่าวเท่าที่ประชุมรัฐสภา จนกว่าจะมีการทำประชามติ เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เข้าสู่รัฐสภา หมายความว่าโร้ดแมปในการเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการจัดทำประชามติถึง 3 ครั้ง”นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ปัญหานี้ให้ไปดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน เพื่อเข้าใจเจตนา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประธานรัฐสภายังไม่ได้ทำ เนื่องจากตัวแทนคณะกรรมการประสานงานเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีมติเสียงข้างมากให้ประธานรัฐสภาไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ศึกษาเพียงแค่คำวินิจฉัยกลาง ไม่ได้ศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 5 ใน 9 คนวินิจฉัยว่าประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในระเบียบวาระได้ จึงอนุมานได้ว่าคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ประธานรัฐสภาสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ และหากวันนี้(29 มี.ค.) รัฐสภามีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยมาแล้วเมื่อปี 2564 และยังปฎิบัติหน้าที่อยู่ในตอนนี้ ก็จะยังวินิจฉัยเช่นเดิม
นายพริษฐ์ เห็นว่าการไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นการตัดสินใจที่สวนทางกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก เชื่อว่าประธานรัฐสภาทราบดีว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การตัดสินใจใช้อำนาจปฏิเสธไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจาก สส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เมื่อไม่บรรจุระเบียบวาระต้องมาพิสูจน์และอธิบายให้กระจ่างต่อสังคม
“หรือแม้วันนี้จะตัดสินใจทบทวน และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเข้าสู่วาระการประชุม สมาชิกอาจจะเห็นแย้งและเสนอญัตติให้รัฐสภาเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นการคาดการณ์ปรากฏการณ์แบบนั้น ไม่ควรเป็นเหตุผลให้ประมุขของสภาฯ ไม่ทำหน้าที่อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หวังว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจและบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม เพื่อผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนโดยเร็วที่สุด”นายพริษฐ์ กล่าว.-317.-สำนักข่าวไทย