ปราจีนบุรี 9 ส.ค. – เกษตรกรชาวสวนยางพารา จ.ปราจีนบุรี ได้รับการส่งเสริมจากการยางแห่งประเทศไทย ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกลำไยแซมในสวนยาง พร้อมต่อยอดใช้เทคนิคทำให้ลำไยนอกฤดูกาล จนประสบความสำเร็จทางอาชีพและรายได้ ปัจจุบันสวนแห่งนี้ได้รับยกย่องเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
กว่า 10 ปี ที่ “ลักษณ์ ฤทธิ์ภักดี” เกษตกรตำบลวังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ยึดอาชีพทำสวนยาง แต่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำหลายปีติดต่อกันจนมีหนี้สินกับธนาคาร กระทั่งการยางแห่งประเทศไทยเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชอื่นแซมช่วงที่ต้นยางยังเล็ก ลักษณ์จึงปรับพื้นที่กว่า 6 ไร่ มาปลูกลำไยพันธุ์อีดอ เพราะคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และเป็นที่ต้องการของตลาด
จุดเด่นของลำไยพันธุ์อีดอ คือ ลูกดก เมล็ดเล็ก เนื้อหวานแห้งกรอบ คุณลักษณ์นำเทคนิคทำให้ลำไยนอกฤดูกาลด้วยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต เพื่อยับยั้งการแตกใบอ่อน จากนั้นอีกประมาณ 25-30 วัน ใบอ่อนจะแตกใหม่พร้อมผลิดอกออกผลนอกฤดูตามต้องการ เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ และช่วงตรุษจีน ราคาจะสูงกว่าเท่าตัว จากราคาลำไยในฤดูกาล แต่ละปีมีรายได้ทดแทนช่วงราคายางพาราตกต่ำหลายแสนบาท
นอกจากนี้ยังน้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาใช้ ด้วยการขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ความสำเร็จจากการทำเกษตรผสมผสานในสวนยาง การยางแห่งประเทศไทยประกาศให้สวนยางแห่งนี้ เป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยเปิดให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเป็นแนวทางไปประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่น ๆ ได้. – สำนักข่าวไทย