กรุงเทพ 13 มี.ค.- หนี้ครัวเรือนฉุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ ปรับตัวลดลง เสนอรัฐเร่งตรึงราคาดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ลดภาระค่าน้ำมัน ชี้การขาดสภาพคล่องของอิตาเลียนไทยสะท้อนปัญหาฟองสบู่ ย้ำค่าไฟงวดหน้าไม่ควรเกิน 4 บาท/หน่วย
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 90.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จาก 90.6 ในเดือนมกราคม 2567 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่ายอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม โดยมีปัจจัยลบจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพและปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ด้านการส่งออกยังคงชะลอตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับปัญหาความขัดแย้งบริเวณทะเลแดง ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทยโดยเฉพาะตลาดยุโรปและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดสูงขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทยลดลง ขณะที่ต้นทุนด้านราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และผลจากมาตรการยกเว้นวีซ่าฟรี (Visa Free) ให้กับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการ Easy E-Receipt ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ (ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567) และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,316 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 85.1 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 74.3 ราคาน้ำมัน ร้อยละ 53.7 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 48.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 38.0 และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 31.2 ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 98.4 ในเดือนมกราคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 หลังจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับอนุมัติ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในภาคเกษตรและปริมาณน้ำในภาคอุตสาหกรรม จึงเสนอภาครัฐ
1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว
2. ต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2567 คือ ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
3. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วน การจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น
4.ให้ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยควรใช้อัตราดอกเบี้ยที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย
นายอิศเรศยังกล่าวถึงกรณี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อป เมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ส่วนหนึ่งมากจากความล่าช้าของการเบิกจ่างงบประมาณรัฐ
“ ปัญหาอิตาเลียนไทย แน่นอนว่ามาจากปัญหาเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ก็มีปัญหา ดังนั้นคนลงทุนเพิ่มเติมน้อยลง ซึ่ง บ.อิตาเลียนไทย ได้สะท้อนปัญหาฟองสบู่ อย่างที่เครดิตบูโร เคยบอกไว้ว่า เตรียมยึดบ้าน ยึดรถ การส่งสัญญาณเหล่านี้ ทำไมกนง. ไม่เข้าใจอะไรง่ายๆ ก็เห็นอยู่แล้วว่า เป็นปัญหาจริงๆ ทำไมต้องรอให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันกี่เดือน ต้องให้ปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ทุกวันนี้ SME เหนื่อย สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็เข้ามาตีตลาด นอกจากนี้ยังห่วงแรงงานที่อาจจะตกงานอีกหลายราย” นายอิศเรศ กล่าว
ส่วนราคาน้ำมันดีเซล หาภาครัฐไม่ต่ออายุมาตรการตรึงราคา ก็จะส่งผลต่อต้นทุนภาพรวม ทั้งการขนส่ง ภาคการเกษตร ค่าครองชีพประชาชน เงินเฟ้อ และกระทบขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตนเองมองว่าช่วงเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะลอยตัวราคาดีเซล ซึ่งช่วงนี้ราคาพลังงานโลกอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นราคาพลังงานในประเทศก็ไม่ควรสูงขึ้น พร้อมเสนอรัฐลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิล โดยการส่งเสริมการใช้ไอโอดีเซล (B7)ให้มากขึ้น เพื่อลดการนำเข้า
ส่วนค่าไฟฟ้าทั้ง 3 แนวทางที่ กกพ.เปิดรับฟังความเห็นนั้นตนเองมองว่าผิดทุกข้อ การเปิดรับฟังความเห็นค่าไฟฟ้าก็ไม่มีประโยชน์ เป็นเพียงโปรโตคอล เพราะไม่ตอบโจทย์ ซึ่งที่ ส.อ.ท.เสนอไปคือค่าไฟฟ้าไม่ควรเกิน 4 บาทต่อหน่วย เพราะปัจจุบันราคา LNG ตลาดโลกลดลงจากงวดที่ 1 ถึง 40% คือจาก 14 เหรียญต่อล้านบีทียู เหลือ 9 เหรียญต่อล้านบีทียู ทำไมรัฐบาลต้องเอาหนี้ของ กฟผ.มาเป็นปัจจัยกำหนดค่าไฟฟ้าในประเทศ พร้อมเสนอให้ผลักดันโซลาร์เสรีภาคประชาชน เพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าคืนมากกว่า 2 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจครัวเรือน ภาคธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟมากขึ้น -517-สำนักข่าวไทย