ส.อ.ท. ห่วงสถานการณ์การเมืองโลกกระทบอุตสาหกรรมไทย

กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรม ปี 67 มีโอกาสเติบโต โดยต้องเร่งกระตุ้นการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ห่วงสถานการณ์การเมืองโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ทะเลแดง ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. สำรวจความเห็นของประธานกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และประธานสภาอุตสาหกรรมภาค 5 ภาค เพื่อนำเสนอมุมมองแนวโน้มอุตสาหกรรมทั้งรายสาขา และรายภูมิภาค รวมถึงสะท้อนความเห็นต่อปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยห่วงกังวลที่คาดว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมในปี 2567 โดยผลการประเมินแนวโน้ม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ในปี 2567 พบว่า แนวโน้ม 46 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้นมีทั้งหมด 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัวมีทั้งหมด 11 กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่า จะหดตัวลงมีทั้งหมด 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรม 5 ภูมิภาค โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกคาดว่าจะขยายตัวได้ ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คาดว่าจะทรงตัว ขณะที่อุตสาหกรรมในภาคกลาง คาดว่า จะหดตัวลง


ทั้งนี้มีปัจจัยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมดังนี้

    1. อานิสงส์จากความต้องการสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

    2. เป้าหมายการบรรลุความตกลงการค้าเสรี (FTA) ได้ภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) รวมถึงการเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู (EU) และไทย-กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ให้สำเร็จโดยเร็ว จะช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก


    3. ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับต่ำ และมีอัตราเหมาะสมทั้งผู้ส่งออก/ผู้นำเข้า

    4.  แนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC

    5.  ผู้ประกอบการได้มีการลงทุนใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เนื่องจากมีราคาที่ถูกลงโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้า

    6. ทิศทางราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงจากปัญหาขาดแคลนที่คลี่คลาย และมีการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ทดแทน

ด้านปัจจัยห่วงกังวลได้แก่

    1.  ทิศทางค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงและปัญหาหนี้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT)

    2. ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามในรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-กลุ่มฮามาส ยืดเยื้อกระทบต่อราคาพลังงานโลกเพิ่มขึ้น

    3. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่สูงเกินไป ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต

    4. ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับสูงจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น และความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

    5. ผลกระทบจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาตีตลาดลูกค้าในกลุ่มอาเซียน กระทบต่อการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

    6. ปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTM/NTB) เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นได้จากผลของฐานต่ำ เนื่องจากปีที่ผ่านมาในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ซึ่งในปี 2567 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้มาจากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาขยายตัวได้ การลงทุนภาคเอกชนที่จะฟื้นตัวตาม ภาคการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องผ่านมาตรการฟรีวีซ่า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ใหม่ๆ จากเป้าหมายการบรรลุ FTA ได้ภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา ไทย-EFTA และไทย-UAE เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าของไทยได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติมากขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้เป็นฤดูแล้ง สภาวะเอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร

สำหรับปี 2567 ส.อ.ท. ยังคงให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญภายใต้ข้อเสนอ ส.อ.ท. ทั้งการปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การเร่งเจรจา FTA เช่น ไทย-EU และไทย-GCC การส่งเสริมการลงทุนและการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการ SME รวมถึงการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อเสริมสร้างรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าต่อไป

นายอุดร คงคาเขตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปาทานกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะจัดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น โดยนอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในทะเลแดง จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป โดยอาจทำให้ระยะเวลาการขนส่งสินค้าทางเรือนานขึ้น ค่าระวางเรืออาจปรับเพิ่มขึ้น ค่าพลังงานอาจปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อซับพลายเชนของสินค้าสำคัญๆ โดยภาคอุตสาหกรรมไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด . 512 – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พยาบาลถูกตบ

“สมศักดิ์” พร้อมช่วยคดี “พยาบาลสาว” ถูกญาติผู้ป่วยตบหน้า

“สมศักดิ์” รมว.สธ. พร้อมสนับสนุนหา “ทนายความ” ช่วยคดี “พยาบาลสาว” ถูกญาติผู้ป่วยตบหน้า บอกหากเจ้าตัวไม่ดำเนินคดี กระทรวงฯ พร้อมออกโรงแทน หวั่นเป็นเยี่ยงอย่าง

รพ.ระยอง ยันดำเนินคดีถึงที่สุดญาติคนไข้ตบพยาบาล

โรงพยาบาลระยอง แถลงปมญาติคนไข้ตบหน้าพยาบาล เผยหลังเกิดเหตุได้ดูแลอาการบาดเจ็บของพยาบาลผู้ประสบเหตุทันที ยืนยันดำเนินคดีถึงที่สุด

ข่าวแนะนำ

เร่งล่า 4 คนร้ายซุ่มยิงตำรวจ สภ.ยะรัง เสียชีวิต 2 นาย

เร่งล่า 4 คนร้ายซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ สภ.ยะรัง เสียชีวิต 2 นาย ขณะที่ ผบ.ตร.อาลัยตำรวจกล้า สั่งต้นสังกัดดูแลสิทธิประโยชน์ เลื่อนเงินเดือนและชั้นยศ

นายกฯ เรียกถกด่วน เร่งแก้ราคาข้าว-สินค้าเกษตรตกต่ำ

นายกฯ เรียก “รมว.พาณิชย์-รมว.เกษตรฯ” ประชุมด่วนวงเล็ก เร่งแก้ไขปัญหาราคาข้าว-สินค้าเกษตรตกต่ำ สั่ง นบข.ออกมาตรการระยะสั้นพยุงราคาข้าว เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ได้คุณภาพ ลั่น รัฐบาลอยู่ข้างชาวนา-เกษตรกร

นายกฯลาวเยือนไทย

นายกฯ ให้การต้อนรับนายกฯ สปป ลาว

นายกฯ ให้การต้อนรับ นายกฯ สปป ลาว ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 75 ปี จับตาหารือความร่วมมือปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลังยกเป็นวาระแห่งอาเซียน