กทม. 4 ส.ค. – วันที่ 24 ก.ค. – 7 ส.ค.นี้ กระทรวงแรงงานเปิดให้นายจ้างยื่นขอจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารใดๆ โดยคาดว่ามีอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ล่าสุดกลับพบเข้าระบบกว่า 400,000 คนเท่านั้นทางผู้ประกอบการมีมุมมองอย่างไร ถึงสาเหตุนายจ้างไม่นำแรงงานเข้าระบบ
เหลือเพียงไม่กี่วันจะครบกำหนดเส้นตาย 15 วัน ที่กระทรวงแรงงานเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานเถื่อน แต่นายจ้างนำต่างด้าวมาเข้าสู่ระบบเพียงกว่า 400,000 คน จากที่แฝงตัวอยู่ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน
นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรบอกว่าเป็นโอกาสทองที่นายจ้างโดยเฉพาะในกิจการก่อสร้างบ้านและคอนโดฯ ที่ใช้แรงงานต่างด้าวกว่าร้อยละ 80 มากกว่าครึ่งผิดกฎหมาย จะขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ค่าใช้จ่ายกว่าจะได้ใบอนุญาตทำงานเป็นเงิน 2,050-4,400 บาทต่อ 1 คน และทำงานได้แค่วันที่ 31 มีนาคมปีหน้า ก่อนผลักออกนอกประเทศ ถือว่าไม่คุ้ม ขณะที่การขึ้นทะเบียนไม่ครอบคลุมผู้ติดตาม ทำให้นายจ้างไม่นำแรงงานเข้าสู่ระบบ
เช่นเดียวกับนายกสมาคมภัตาคารอาหารไทย มองว่าถึงแรงงานจะได้ใบอนุญาต แต่หากไม่กำหนดอาชีพสงวนใหม่ให้ชัดเจน สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องส่วยก็คงไม่หมดไป แนะให้เร่งแก้กฎหมายลูก จำแนกให้เหมาะสมในกิจการแต่ละประเภท
โฆษกกระทรวงแรงงาน ยืนยันการกำหนดอาชีพสงวนใหม่แล้วเสร็จก่อนที่ พ.ร.ก.ต่างด้าวประกาศใช้แน่นอน ทั้งนี้ หากเทียบการนำเข้าแรงงานแบบเอ็มโอยูที่ต้องจ่าย 15,000-20,000 บาท กับการขึ้นทะเบียนรอบนี้คุ้มค่าที่สุด เพราะแรงงานเข้าสู่ระบบถูกต้อง และไม่เสี่ยงถูกปรับหลายแสนด้วย ส่วนหลัง 31 มีนาคมปี 2561 จะดำเนินการอย่างไร ต้องรอดูยอดการขึ้นทะเบียน 15 วันก่อน ย้ำคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประกอบการและประเทศมากที่สุด
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับใหม่ นอกจากเพื่อการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้สมดุล มีประสิทธิภาพ ปลอดส่วยแล้ว การลดปัญหาการค้ามนุษย์ คือเป้าหมายสูงสุดของรัฐ เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับไทยให้หลุดพ้นจากเทียร์ 2 เฝ้าระวัง. – สำนักข่าวไทย