สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา 11 ก.พ.- “ปานปรีย์” มอบนโยบายทีมไทยแลนด์ในสหรัฐ ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เตรียมนำแลนด์บริดจ์ หารือกับ “ที่ปรึกษาอาวุโส โจ ไบเดน-รมว.พาณิชย์ สหรัฐ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 ก.พ.2567 เมื่อเวลา 17.00น. (ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มอบนโยบายให้กับทีมประเทศไทยในสหรัฐ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ในโอกาสเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายแอนโทนี เจ. บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ โดยมีนายธานี แสงรัตน์ อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ให้การต้อนรับ โดยมีอัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ อัครราชทูตฝ่ายการเกษตร อัครราชทูตฝ่ายการศึกษา ผู้ช่วยทูตทหาร ร่วมรับมอบนโยบาย
นายธานี เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า เป็นการประชุมกับทีมประเทศไทยครั้งที่ 2 ของปี 2567 ของสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งทีมประเทศไทย ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานรวมถึงโครงการสำคัญ อาทิ กองทัพ รายงานเรื่องการฝึกซ้อมรบร่วม คอบร้าโกลด์ทั้ง 3 เหล่าทัพ ความร่วมมือกองทัพเรือไทย-สหรัฐ การจัดหายุทโธปกรณ์ การเก็บกู้เรือ สำนักงานด้านความมั่นคงได้หารือการแลกเปลี่ยนข่าวกรองของไทยกับสหรัฐ
ส่วนสำนักงานฝ่ายการเกษตรรายงาน เรื่องความสำเร็จที่ไทยได้ร่วมมือกับสหรัฐในการนำเข้าส้มโอ และอยู่ระหว่างการผ่อนหน่อยนำเข้าสินค้าเกษตรอื่นๆ
นายธานี เปิดเผยว่า นายปานปรีย์ มีความห่วงใยในการดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐ ที่มี 600-700 คน บางคนประสบปัญหาภาวะเรียนหนัก จึงได้รายงานต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่า สถานทูตและสถานกงสุลก็มีหน้าที่ในการดูแลเสริมจากอัครราชทูตฝ่ายการศึกษา เพราะมี 3 สถานกงสุลใหญ่ ทั้งที่นครนิวยอร์ก ชิคาโก และลอสแองเจลิส รวมถึงจะมีการจัดงานพบปะของนักเรียนไทยใน 3 รัฐด้วย
สำหรับประเด็นด้านการค้า ได้รายงานเรื่องการผลักดันการต่ออายุโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่รัฐสภาสหรัฐไม่ได้ต่ออายุมาถึง 3 ปี ทางเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และร่วมกับเอกอัครราชทูตอาร์เจนตินา เป็นประธานร่วม และมีอีก 20 ประเทศในการทำงาน ร่วมกับรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย
ส่วนการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์นั้น เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สถานเอกอัครราชทูตร่วมกับทีมประเทศไทย นำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยในหลายโอกาส เช่น การจัดงานสวัสดีประเทศไทยในเดือน ก.ค.2566 มีแขกจากทำเนียบขาวเข้าร่วมงานจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนอย่างดี ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้ากับประเทศไทย
นายธานี กล่าวอีกว่า ในโอกาสที่ นายปานปรีย์ จะพบกับ นายเอมอส โฮชสไตน์ ที่ปรึกษาอาวุโสของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ก่อนพบกับนายแอนโทนี เจ. บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ จะหยิบยกเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์มาหารือด้วย นอกจากนี้การเดินทางเยือนสหรัฐ เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ให้ได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเตรียมการนำไปสู่การเยือนอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาสแรก หรือไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เพราะปีนี้เป็นปีเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา.-316.-สำนักข่าวไทย