กรุงเทพฯ 29 ม.ค. – วาเลนไทน์นี้ผู้พิการ-ผู้สูงอายุ เดินทางจากบ้านถึงโรงพยาบาล กทม. สะดวกและฟรี ด้วยบริการ Taxi คนพิการระบบใหม่
นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดบริการรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ว่า โครงการจัดบริการรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น หรือหลายคนรู้จักในชื่อ “Taxi คนพิการ” ได้ดำเนินการมาหลายปีแล้ว เดิมมีจำนวนรถทั้งหมด 30 คัน ซึ่งกรุงเทพมหานครมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้ดำเนินการโครงการดังกล่าว เป็นระยะเวลา 4 ปี (1 ตุลาคม 2559 -30 กันยายน 2563) โดยกรุงเทพมหานครสนับสนุนงบประมาณบางส่วน และเคทีจัดหาผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายอีกบางส่วน
หลังสิ้นสุดบันทึกมอบหมาย (วันที่ 30 กันยายน 2563 – วันที่ 2 ตุลาคม 2565) เคทียังคงให้การสนับสนุนและให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรุงเทพมหานครโดยสำนักการจราจรและขนส่งได้ให้เงินอุดหนุนแก่เคทีเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2565 – วันที่ 26 กันยายน 2566 รวมเป็นระยะเวลา 360 วัน ซึ่งเป็นการให้บริการด้วยรถจำนวน 10 คัน
ภายหลังสิ้นสุดบันทึกข้อตกลงการรับเงินอุดหนุน เคทียังคงให้การสนับสนุนและให้บริการเดินรถอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยช่วงวันที่ 27 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2566 ให้บริการเดินรถจำนวน 10 คัน และตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2566-วันที่ 31 มกราคม 2567 ให้บริการเดินรถ จำนวน 5 คัน จึงจะยุติการให้บริการเดินรถ
“สำหรับปัญหาการให้บริการที่เกิดขึ้น คือ ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้ยาก การให้บริการไม่คลอบคลุม (มีการใช้งานเพียงบางกลุ่ม) การให้บริการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง ไม่คุ้มค่ากับเที่ยวรถ กรุงเทพมหานครจึงต้องหาแนวทางเพื่อทำให้การบริการนี้มีความยั่งยืนและมีการบริการที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้พิการนั่งหรือผู้สูงอายุรถเข็นมีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งขนส่งมวลชนทั่วไปยังไม่ครอบคลุม” ที่ปรึกษาฯ ภาณุมาศ กล่าว
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันรถบางส่วนมีความเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน คงเหลือรถที่ยังสามารถนำมาใช้งานได้ 20 คัน โดยจำนวนนี้อยู่ในกระบวนการรับโอนมาที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์จะรับ 18 คัน สำนักพัฒนาสังคมจะรับ 2 คัน หมายความว่า รถจำนวน 18 คัน ที่สำนักการแพทย์รับโอนมาจะมีการกระจายอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 11 แห่ง และอีก 2 คัน ที่สำนักพัฒนาสังคมรับโอนจะใช้ในส่วนที่ดูแลผู้สูงอายุอยู่
จากตัวเลขผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นประจำพบว่า มีผู้พิการ 5,000 คน มีผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบากประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง จึงต้องมีการจัดระบบรถบริการที่มีทั้ง 20 คัน อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเปิดให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถจองผ่านระบบในหลายช่องทาง อาทิ ไลน์แอดโรงพยาบาล โทรศัพท์มายังศูนย์ข้อมูลของสำนักการแพทย์ หรือระบบ Easy Chat ทางแอปพลิเคชัน หมอ กทม. ซึ่งจะมีสำนักการแพทย์เป็นผู้ดูแลเรื่องคิว
ในส่วนของเงื่อนไขการให้บริการจะมีการประเมินความจำเป็นโดยพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทั้งด้านร่างกาย (เช่น ผู้ป่วยที่ระดับ ADL 5-12 ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยต้องมีสัญญาณชีพคงที่ไม่อยู่ในภาวะวิกฤต ผู้ป่วยที่มีนัดรักษาต่อเนื่องกับโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ส่วนในกรณีผู้ที่ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล จะพิจารณาการให้บริการโดยใช้ Telemedicine ติดตามการรักษาพยาบาล และเยี่ยมบ้าน) และด้านสังคม (เยี่ยมบ้านแล้วพบปัญหาเศรษฐานะ)
ด้านลักษณะการให้บริการ จะให้บริการไม่เกิน 4 เที่ยว/วัน/คัน โดยพิจารณาความจำเป็นของการให้บริการจากดุลยพินิจของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงต้องมีการนัดหมายขอใช้บริการรถรับ-ส่งผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นการให้บริการตามพื้นที่ Health Zone โดยที่ต้นทางและปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของผู้รับบริการหรือโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครจะเปิดรับจองการใช้บริการในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และจะเริ่มให้บริการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยให้บริการฟรี อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครต้องขออภัยในช่วงระหว่าง 2 สัปดาห์ที่หยุดให้บริการด้วย
สำหรับในอนาคต กรุงเทพมหานครอาจมีการขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายรอง เช่น ผู้พิการที่ต้องเดินทางไปสถาบันสิรินธร (กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี) แต่ในระยะแรกนี้จะให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายหลักที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ก่อน โดยหลังจากเปิดให้บริการ จะรวบรวมข้อมูลเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นหรือพิจารณาขยายการบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายรองต่อไป
ส่วนมาตรการในระยะยาว คือดูในเรื่องข้อบัญญัติต่าง ๆ รวมทั้งทำความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หาแนวทางในการดำเนินการจัดให้มีสวัสดิการเกี่ยวกับด้านการเดินทางของผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น แก้ไขระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามาร่วมให้บริการ เป็นต้น ซึ่งภายในปีนี้จะต้องออกวิธีการที่จะทำให้การบริการนี้ยั่งยืนขึ้นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น. -417-สำนักข่าวไทย