29 มกราคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทาง Instagram ในสหรัฐอเมริกา ที่อ้างว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศเตือนถึงความเสี่ยงการป่วยเป็นโรคเรื้อนของผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังพบผู้ป่วยโรคเรื้อนมากผิดปกติในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่มีการรณรงค์วัคซีนโควิด-19 เป็นต้นมา และไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นใดนอกจากวัคซีนที่คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการแพร่ระบาด
บทสรุป :
- ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนต้องมีเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae ในร่ายกายเท่านั้น
- แม้มีรายงานว่าระบบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิด-19 อาจไปกระตุ้นให้ผู้มีเชื้อในร่างกายเกิดโรคเรื้อน แต่การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถกระตุ้นการเกิดโรคเรื้อนมากกว่า
- แม้สามารถติดผ่านระบบทางเดินหายใจ แต่การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนในปัจจุบันทำได้ง่ายกว่าในอดีต
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ข้ออ้างดังกล่าว นำมาจากรายงานของวารสารการแพทย์ Emerging Infectious Diseases ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) โดยรายงานถึงกรณีศึกษาของผู้ป่วยชายวัย 54 ปีในรัฐฟลอริดา ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนในเดือนสิงหาคม 2023 ในรายงานยังกล่าวถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเรื้อนในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา โดยปี 2020 มีการพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ถึง 159 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐฟลอริดา
อย่างไรก็ดี ชาร์ลส์ ดันน์ แพทย์ประจำบ้านปี 3 (Chief Resident) ของหลักสูตร Orlando Dermatology Residency Program และเป็นหนึ่งในทีมงานที่เผยแพร่รายงานดังกล่าว ยืนยันว่า รายงานการแพร่ระบาดของผู้ป่วยโรคเรื้อนในรัฐฟลอริดา ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 เนื่องจากเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นก่อนที่วัคซีนจะถูกนำมาใช้ในช่วงปลายปี 2020 นั่นเอง
นอกจากนี้ ระบบเฝ้าระวังความปลอดภัยจากวัคซีนหลาย ๆ แห่ง ก็ไม่พบการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเรื้อนโดยมีสาเหตุจากวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน
สาเหตุการเกิดโรคเรื้อน
โรคเรื้อน คือโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางผิวหนังและระบบประสาท เช่น มีแผลผื่นแดง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไร้ความรู้สึก จนถึงเป็นอัมพาต
แม้โรคเรื้อนจะติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจ แต่การที่ใครสักคนจะป่วยเป็นโรคเรื้อนไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย เนื่องจาก 95% ของประชากรต่างมีภูมิคุ้มกันโรคเรื้อนอยู่ในร่างกาย นอกจากนี้ การรักษาโรคเรื้อนในปัจจุบันยังทำได้ง่ายกว่าในอดีต โดยมีระยะเวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
การที่ผู้โพสต์อ้างว่า การระบาดของโรคเรื้อนในฟลอริดา ไม่มีปัจจัยอื่นใดนอกจากวัคซีนเป็นการอ้างที่ไม่เป็นจริง เพราะในรายงานพบว่า เชื้อโรคเรื้อนที่ระบาดในฟลอริดา มาจากสายพันธุ์แบคทีเรียที่พบในตัวนิ่ม จึงเชื่อว่าสาเหตุการระบาดน่าจะมาจากการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน
ชาร์ลส์ ดันน์ ย้ำว่าการวินิจฉัยสาเหตุการป่วยเป็นโรคเรื้อนเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ใช้เวลาเติบโตนานนับปี ดังนั้นการป่วยเป็นโรคเรื้อนในปัจจุบัน อาจมีสาเหตุจากการรับเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae มาหลายปีก่อนหน้านั้นก็เป็นได้
ความสัมพันธ์ของโรคเรื้อนกับวัคซีนโควิด-19
มีงานวิจัยไม่น้อยที่ศึกษาการเกิดโรคเรื้อนในผู้ป่วยที่เพิ่งฉีดวัคซีนโควิด-19 มาได้ไม่นาน
อย่างไรก็ตาม รายงานเหล่านั้นไม่ได้ระบุว่าวัคซีนโควิด-19 คือสาเหตุหลักของการเกิดโรคเรื้อน แต่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มีต่อวัคซีน ที่ไปกระตุ้นให้ผู้รับวัคซีนที่มีเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae ในร่างกาย มีอาการของโรคเรื้อนเกิดขึ้นในที่สุด
ดังนั้น ผู้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่มีเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae ในร่างกาย จะไม่มีทางป่วยเป็นโรคเรื้อนจากวัคซีนโควิด-19
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การติดเชื้อหรือรับวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจหรือการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีส่วนกระตุ้นการป่วยโรคเรื้อนของคนที่มีเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae เช่นเดียวกัน
ดร. เจสซิกา แฟร์ลีย์ แพทย์โรคติดเชื้อและผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อนจากมหาวิทยาลัยเอมโมรี อธิบายว่า ผู้ที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อนจะต้องมีเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium Leprae ในร่างกายเท่านั้น ส่วนหลักฐานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างโรคเรื้อนกับวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันก็ยังมีจำกัด ซึ่งหลักการเดียวกันนี้ สามารถเชื่อมโยงได้ว่า การติดเชื้อโควิด-19 ก็สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันว่า ไม่พบการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคเรื้อนจากการรับวัคซีนชนิดใด ๆ อีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง :
https://healthfeedback.org/claimreview/covid19-vaccines-dont-cause-leprosy-arent-responsible-leprosy-cases-florida/
https://apnews.com/article/fact-check-florida-leprosy-cases-cdc-covid-vaccines-352032756100
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter