กรุงเทพฯ 28 ก.ค. – กสิกรไทยคาดเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแข็งค่าสุดในรอบ 27 เดือน จับตาถ้อยแถลงเฟด-การเมืองสหรัฐ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 24-27 ก.ค.) เงินบาทแข็งค่าทดสอบระดับ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 หรือประมาณ 2 ปี 3 เดือน โดยการแข็งค่าของเงินบาทเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สะท้อนว่า ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แม้ว่าเฟดจะส่งสัญญาณเตรียมปรับลดงบดุลระยะใกล้ ๆ นี้ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์อีกด้วย โดยวันที่ 27 กรกฎาคม เงินบาทอยู่ที่ 33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 33.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สำหรับสัปดาห์หน้า (31 ก.ค.-4 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.20-33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด สถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐ และรายงานดัชนี PMI ของจีน ยูโรโซน และสหรัฐ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญอื่น ๆ ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE)
ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้ถูกขายทำกำไรบางส่วนปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,581.06 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.75 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 40,186.35 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 558.48 จุด ลดลงร้อยละ 0.50 จากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม แรงขายทำกำไรก่อนวันหยุดยาวและแรงถ่วงของหุ้นในกลุ่มส่งออกท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้กรอบการปรับตัวขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดลงในช่วงปลายสัปดาห์
ส่วนสัปดาห์หน้า (31 ก.ค.-4 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,570 และ 1,555 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,590 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขงบการเงินไตรมาส 2/2560 ของบริษัทจดทะเบียน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ เดือนกรกฎาคม ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2560 (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ดัชนี PMI ของประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย และผลการประชุมนโยบายการเงินของออสเตรเลีย.-สำนักข่าวไทย