รัฐสภา 17 ม.ค.-“ศิริกัญญา” ดักคอรัฐ อย่านำความเห็น ป.ป.ช. มาใช้เป็นทางลงล้มดิจิทัลวอลเล็ต แนะทบทวนหาทางออก-ลดขนาดโครงการ-ใช้งบกลาง 68 เพื่อไปต่อได้ ชี้ เงื่อนไขเดิมสุ่มเสี่ยงติดล็อก กม.
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่เอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เรื่องโครงการดิจิทัลวอเล็ต ว่า ได้อ่านตามข่าว ว่ามีรายงานของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ออกมา ซึ่งคิดว่าก็เป็นคำแนะนำที่รัฐบาลอาจจะรับฟังเอาไว้ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องทำตาม เรื่องของการดำเนินนโยบาย เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรง ดังนั้นก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามและไม่ได้เป็นข้อกฎหมายอะไรที่จำเป็น และตนก็ขอให้องค์กรอิสระทำหน้าที่ตามกรอบของตัวเอง
“เท่าที่อ่านมาก็ไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของป.ป.ช. แต่หากคิดว่าเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็ควรรับฟัง แต่ไม่ควรนำมาเป็นจุดอ้างอิงว่าหากเราไม่ได้ทำโครงการเงินดิจิทัลวอเล็ต ป.ป.ช. หรือกฤษฎีกามีความเห็นแบบนั้นแบบนี้ อยากให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ถ้าโครงการเงินดิจิทัลจะไปต่อไม่ได้ ไม่ต้องเอาหลังไปพิงองค์กรอิสระ”นางสาวศิริกัญญา กล่าว
ส่วนภาพรวมของรายงานที่ออกมา มีการระบุถึงความเสี่ยงในหลายๆด้านนั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ป.ป.ช.บอกว่า ไม่มีวิกฤต ซึ่งก็มีรายงานอ้างอิงวิกฤตจากธนาคารโลก แต่จริงๆ แล้วสถานการณ์ของประเทศยังไม่เข้าขั้นนั้น แม้แต่ข้อเดียว
ส่วนจะเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เคยพูดไว้หรือไม่นั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าเป็นฝ่ายค้านพูดน้ำหนักอาจจะดูน้อย อาจจะคิดว่าเราแฝงไปด้วยการเมือง หลายเรื่องที่ระบุอยู่ในรายงานของ ป.ป.ช. ก็เป็นเรื่องที่เคยพูดไปแล้ว แต่ถึงแม้จะเห็นตรงกัน
“แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้ตัวรายงานฉบับนี้ของป.ป.ช.มาเป็นตัวหลังพิง ก็อยากให้รัฐบาลยืดอกรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ว่าทำไมถึงไปต่อไม่ได้” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
ทั้งนี้หากมีการทบทวนวิธีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน และเปลี่ยนไปใช้เป็น งบกลางปี 2568 เพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อ จะยังมีปัญหาอะไรที่มองเห็นหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา บอกว่า ไม่มี ซึ่งก็เป็นทางหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเปลี่ยนไปใช้งบประมาณปี 2568 แต่ งบปี 2568 ก็จะเข้าแบบเดียวกันกับงบปี 2567 คือไม่มีที่ว่างเหลือให้ใส่โครงการขนาด 500,000 ล้านบาทเข้าไป ถ้าเรายังไม่แก้โครงสร้างงบประมาณให้แล้วเสร็จ แต่หากลดขนาดของโครงการลงมาให้เล็กลง ก็พอที่จะยัดเข้าไปในปี 2568 ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุดแล้วที่ทำได้
ส่วนจะสามารถบอกได้หรือไม่ว่าทางที่ปลอดภัยที่สุดของรัฐบาล คือการยุติโครงการ นางสาวศิริกัญญา บอกว่า ส่วนตัวคิดว่ามีโอกาสที่จะทำได้ ก็คืออาจจะลดไซส์ลงมาให้เล็กลง และใช้แนวทางที่เป็นไปได้ตามกฎหมายก่อนหรืออาจจะเป็นอีกวิธีหนึ่งคือการแก้ไขพ.ร.บ.การเงินการคลัง ในกรณีที่รัฐบาลอยากจะกู้เงินไม่จำเป็นต้องมีวิกฤตก็ได้อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลก็กลุ่มเสียงข้างมากในรัฐสภาอยู่แล้ว
ส่วนหากรัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการต่อโดยใช้เงื่อนไขเดิมจะมีผลอย่างไร นางสาวศิริกัญญา มองว่า ก็จะมีผลแน่ๆ เพราะทุกคนก็ทราบดีว่าจะติดล็อคทางกฎหมาย ตนไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไร
“อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะคนที่จะฝ่าฟันลุยไฟไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่ก็คือรัฐสภาที่ต้องโหวตกฎหมายอันสุ่มเสี่ยงไปด้วย รวมถึงข้าราชการต่างๆที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายไปจนถึงคณะอนุนโยบาย ก็ต้องถูกดึงมาอยู่ในร่างแหนี้ด้วย จึงอยากให้คิดทบทวนหาทางออกกับโครงการนี้ให้ดี” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
ทั้งนี้หากรัฐบาล อาจใช้ความเห็นของป.ป.ช.เป็นข้ออ้าง ในการยุติโครงการหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นทำไมต้องมีการเลื่อน การประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอเล็ต เมื่อวานนี้(16 ม.ค.) ออกไป ทั้งๆ ที่ความเห็นของ ป.ป.ช.ก็คือความเห็นของ ป.ป.ช. ถ้าหากคิดว่าเราสามารถพิจารณากันได้เอง ไม่ต้องใช้ความเห็นของ ป.ป.ช. ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ถามว่าต้องรับฟังไหมก็ควรต้องรับฟัง แต่ก็ไม่ใช่จุดเปลี่ยนหรือเงื่อนไขสำคัญ ที่โครงการนี้จะไปต่อหรือไม่ไปต่อด้วยความเห็นของ ป.ป.ช.
ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากไม่ฟังความเห็นของ ป.ป.ช.ก็อาจจะซ้ำรอยเดิม คือโครงการรับจำนำข้าว ที่ยังมีคนติดคุกอยู่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า กรณีนี้เทียบเคียงกับโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ แต่หากจะเทียบเคียง ก็ให้เทียบเคียงกับกรณี พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สุดท้ายถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่มีใครได้รับผลกระทบทางกฎหมายอะไรเลย ยกเว้นคนที่เสียบบัตรแทนกัน
ส่วนจะให้ฝ่ายค้านเสนอแนะรัฐบาลอย่างไร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลอยู่นิ่งๆ ทบทวนโครงการนี้ให้ถี่ถ้วนสักครั้งหนึ่ง ว่ามีโอกาสที่จะเป็นไปได้ด้วยวิธีการใดบ้าง ตอนที่หาเสียงเลือกตั้งยังไม่มีอำนาจรัฐ ยังไม่มีแขนขาที่เป็นข้าราชการ อาจจะยังคิดไม่ออกว่าต้องทำด้วยวิธีการใด แต่วันนี้ มีข้าราชการคอยมาเป็นแขนขา คอยช่วยคิดให้แล้ว ก็อยากให้อยู่นิ่งๆ คิดก่อนว่า จะเดินหน้าอย่างไรได้บ้าง พร้อมเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไม่ดีและเติบโตต่ำ ซึ่งอาจจะไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็มีปัญหาที่จะต้องแก้ ในระยะสั้น และต้องแก้ไขโครงสร้างในระยะยาว
“เรื่องใดที่ต้องเริ่มทำทันทีก็เริ่มทำได้แล้ว อย่ามัวแต่รอดิจิทัล เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ทำ เพราะหากมีวิกฤตจริง ก็รอไม่ได้ และถึงแม้วันนี้ยังไม่เกิดวิกฤต ก็รอไม่ได้แล้วเหมือนกัน ที่รัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่างให้เศรษฐกิจดีขึ้นและ ที่ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคมก็อาจจะล่าช้าเกินไป แถมยังต้องมาลุ้นอีกว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ต้องทำด้วยงบกลางที่มีอยู่ตอนนี้ ก็ต้องออกโครงการมาให้ประชาชนรู้สึกว่าการจับจ่ายใช้ของสอยคล่องตัวมากขึ้นแล้ว”นางสาวศิริกัญญา กล่าว.-315.-สำนักข่าวไทย