กทม. 26 ก.ค. – เปิดตัวไปแล้วอย่างไม่เป็นทางการสำหรับ “สัญญาประชาคม” ที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เป็นทางออกความขัดแย้งของคนภายในประเทศ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าจะสร้างความปรองดองได้จริงหรือไม่
หลังผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวบรวม และสรุป เป็นเวลา 5 เดือนเต็ม “สัญญาประชาคม” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการปรองดอง ก็เปิดตัวขึ้นในช่วงปลายโรดแมปของ คสช. ท่ามกลางความหวังของทุกฝ่ายว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่นำมาสู่ความขัดแย้งในสังคมไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
แต่ทันทีที่มีการเผยแพร่เนื้อหา 10 ข้อที่คนไทยพึงปฏิบัติ และ 15 ข้อเสนอเสนอแนะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่า สัญญาประชาคม เป็นเพียงแค่หลักการลอยๆ ไม่มีกรอบปฏิบัติชัดเจน ไม่มีตัวชี้วัดว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นจริง
โฆษกกลาโหม กล่าวว่า สัญญาประชาคมฉบับนี้มาจากการรับฟังความคิดเห็นของคนทุกกลุ่มกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงนักการเมือง และคู่ขัดแย้ง แต่ในสัญญาประชาคมไม่ได้ระบุว่าทุกคนต้องปฏิบัติ ไม่ต้องลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร จึงเปรียบเสมือนสัญญาใจระหว่างประชาชน รัฐ และประเทศชาติ
หลังเข้าสู่การพิจารณาและเห็นชอบจาก ป.ย.ป. ไปเมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปคือ กระทรวงมหาดไทยและ กอ.รมน.จังหวัด จะเปิดเวทีชี้แจงทำความเข้าใจเนื้อหาสัญญาประชาคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดตัวประชาคมอย่างเป็นทางการ ในส่วนของคณะกรรมการ ปรองดอง แม้จบภารกิจแล้ว แต่ก็ยังทำหน้าที่ต่อไป เช่นเดียวกับอีก 3 คณะของ ป.ย.ป. นั่นคือ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนจะยุบ ป.ย.ป. เมื่อใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คาดว่าจะเป็นกลางปีหน้า. – สำนักข่าวไทย