กรุงเทพฯ 12 ม.ค.- อีอีซี รวมพลังภาคีหน่วยงานรัฐ-เอกชน ต่อยอดผลงานเยาวชนอีอีซี สแควร์ผลักดันแนวคิดคนรุ่นใหม่ ทำได้จริงเป็นรูปธรรม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา โรงเรียนบางปะกง “บวรวิทยายน” โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 โรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โรงเรียนหมอนทองวิทยา โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย โรงเรียนวัดป่าประดู่ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนโครงการ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการขยายผลงานเยาวชนที่ส่งเข้าประกวด ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี สแควร์ (EEC2) ประจำปี 2566
อย่างไรก็ตาม การลงนาม MOU ในวันนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายสำคัญของอีอีซี ที่จะเกิดการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อีอีซี ที่ได้ร่วมกับ สกพอ. ในการแสดงความสามารถคิดค้น หรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สร้างสรรค์ผลงานในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา หรืออีอีซี สแควร์ (EEC2) ที่มีผลงานดีเยี่ยมหลายโครงการ ให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด หรือขยายผลให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่หรือชุมชน และในภาคอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้ได้มีการต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนให้ผลงานจากแนวคิดของ เยาวชนอีอีซี สแควร์ นี้ ได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง
สำหรับหน่วยงานที่นำผลงานเยาวชนไปขยายผล เช่น WHA นำผลงานการออกแบบ และพัฒนาถังดักไขมันในน้ำเสียเพื่อใช้ในครัวเรือน จากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในชุมชน ไปขยายผลใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการ RICE STRAW POT (กระถางจากฟางข้าว) จากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ซึ่งเกิดจากปัญหาการเผาฟางข้าวของชาวนาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการขยายผลโครงการเครื่องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร จากโรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โครงการภาชนะจากเปลือกกล้วยเสริมกาบกล้วย จากโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาของเหลือใช้ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ IWRM สนับสนุนโครงการ CATCH ME BY THE SEA (เครื่องแยกขวดพลาสติก ฝากขวด แก้วน้ำและกระป๋อง อัตโนมัติ) และ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Science Park) TTB และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะนำผลงานทั้งหมดไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับโครงการ อีอีซี สแควร์ ได้ดำเนินการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ อีอีซี ให้สนใจในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และครู ทั้ง 3 จังหวัดอีอีซี ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนา อีอีซี ตลอดจนการสร้างพลเมืองรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา มีเยาวชนใน 3 จังหวัด อีอีซี เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 31 โรงเรียน มีการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ จากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ได้แสดงศักยภาพ ผ่านการประกวดการสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในมิติต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ พร้อมขยายผลจริงในชุมชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ยังขยายผลสร้างความเข้าใจ อีอีซี และความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง ได้เป็นอย่างดี-สำนักข่าวไทย.-517-สำนักข่าวไทย