เพชรบุรี 22 ก.ค.-นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีพร้อม ผอ.รพ.พระจอมเกล้า ออกมาชี้แจงเสียงวิจารณ์ในโซเชียลกรณีผู้ป่วยวัย 15 รอแพทย์นานจนเสียชีวิต ยืนยันแพทย์ให้การรักษาจนสุดความสามารถ ไม่ได้ทอดทิ้งผู้ป่วย แต่เด็กมีอาการหนักมาก เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตกเป็นเหตุให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ยากที่จะรักษาได้ทันท่วงที
จากกรณีมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพพร้อมข้อความ อ้างว่า รพ.แห่งหนึ่งใน จ.เพชรบุรี ให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรอจนเส้นเลือดใหญ่ในกระเพาะแตกตาย จึงอยากฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ อย่าให้ 1 ชีวิต ต้องเสียไปกับคำว่า “รอ” จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์
เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้(22 ก.ค.) ที่ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี นพ.ประจักษ์ วัฒนะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย นพ.สาธิต รัตนศรีทอง ผู้อำนวยการ รพ.พระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของ ด.ช.ธีธัช อายุ 15 ปี ผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อจาก รพ.ชะอำ มายัง รพ.พระจอมเกล้า อ.เมืองเพชรบุรี เมื่อเวลา 13.30 น.ของวันที่ 21 ก.ค.2560 ว่า เดิมผู้ป่วยได้เข้าทำการรักษาอาการปวดท้องที่ รพ.ชะอำ เมื่อคืนวันที่ 20 ก.ค.60 แพทย์ได้ทำการตรวจรักษาตามปกติ แต่เด็กไม่สามารถบอกอาการได้มาก แพทย์ที่ตรวจดูแลเป็นหมอเด็กและเป็นผู้เชี่ยวชาญ แรกตรวจเข้าใจว่าอาจเป็นอาการกระเพาะทะลุ แต่วินิจฉัยไม่ได้ เพราะตรวจไม่เจอ มีการเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ทุกอย่าง แต่อาการไม่ดีขึ้น กระทั่งเช้าวันที่ 21 ก.ค.ดูแล้วว่าอาการไม่ปกติ จึงได้ส่งต่อมายัง รพ.พระจอมเกล้า เพื่อวินิจฉัยโรคให้ละเอียด
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า เด็กมาถึง รพ.พระจอมเกล้า เวลา 13.30 น.วันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นเข้าตรวจที่แผนกอายุรกรรมในเวลา 14.04 น. และเข้า x-ray เวลา 14.30 น.ได้ฟิล์ม ส่งให้แพทย์ทำการวินิจฉัยอาการ ระหว่างรอผลเด็กเป็นลม หมอทำการเจาะเลือด ปฐมพยาบาล กระทั่งเวลา 14.45 น.ส่งมายังห้องฉุกเฉินเข้าหาหมอ จากนั้นเด็กความดันตก จึงทำการตรวจ ให้น้ำเกลือและเจาะเลือด แพทย์เวรเข้ามาดูอาการ จากนั้นนำเข้า ct scan ตวจคลื่นหัวใจ ทำการ ct scan ซ้ำ เนื่องจากมีอาการผิดปกติ ระหว่างรอฉีดยาแก้ปวด แพทย์สงสัยเส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง เด็กเริ่มกระสับกระส่าย แพทย์ทราบอาการว่าเกิดจากเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก ซึ่งเป็นอาการที่ยากต่อการรักษาและไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะทำการรักษาโรคนี้ได้ ต่อมาเวลา 16.38 น.เด็กไม่มีชีพจร แพทย์ได้ทำการปั๊มหัวใจ ให้เลือด 2 ถุง สลับการปั๊มหัวใจ กระทั่งเวลา17.15 น.เด็กจึงเสียชีวิต ซึ่งสุดที่จะทำการรักษาได้จริงๆ
“คณะแพทย์และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรู้สึกเสียใจ แต่ยืนยันไม่ใช่เป็นการทิ้งผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยมาวันทำการปกติ แพทย์พยาบาลเองก็อยู่และทำการตรวจรักษา ไม่ได้ทอดทิ้งแต่อย่างใด” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี กล่าว
ด้าน นพ.สาธิต รัตนศรีทอง ผอ.รพ.พระจอมเกล้า กล่าวว่า จากการตรวจสอบการรักษาอาการของแพทย์และบันทึกต่างๆ ก็สอดคล้องกัน ว่าตั้งแต่รับตัวผู้ป่วยมา ไม่มีการทอดทิ้งและอยู่ในระหว่างการทำการรักษา แต่บางช่วงก็อยู่ในระหว่างรอผลการวินิจฉัยจากเครื่องมือ เพราะโรคนี้ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรือการทำซีทีสแกนเท่านั้นจึงจะพบ เราทำทุกอย่าง อาจมีช่วงระหว่างรอผลการอ่านฟิล์ม ที่อาจมองว่าคนไข้ต้องรอ ซึ่งขณะรอผลอ่าน แพทย์พยาบาลก็ได้ทำการรักษาอาการที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น อาการเป็นลม ชีพจรไม่ทำงาน
“จากภาพที่เห็น ยืนยันได้ว่าแพทย์ได้ทำการรักษาเป็นไปตามขั้นตอน แต่โรคดังกล่าว คือ เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอก ที่มีอาการเปราะบางและแตก เป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเฉียบพลัน สุดที่จะทำการรักษาได้ทันท่วงที” ผอ.รพ.พระจอมเกล้า กล่าว
ในส่วนของการเยียวยานั้น นพ.ประจักษ์ กล่าวว่า จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาในส่วนของเหตุสุดวิสัย ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำการเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตต่อไป และขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้ป่วยด้วย แต่สุดความสามารถจริงๆ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากโรคดังกล่าว เป็นโรคที่ยากต่อการวินิจฉัย และด้วยสภาพของพื้นที่ ถึงแม้จะวินิจฉัยอาการได้ก็จริง แต่ก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทำการผ่าตัดรักษาได้ ต้องส่งต่อ แต่ผู้ป่วยได้เสียชีวิตก่อน.-สำนักข่าวไทย