ก.แรงงาน 21 ก.ค.-เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน แสดงความเห็นผ่านสังคมออนไลน์ เผยการขึ้นทะเบียนต่างด้าวรอบนี้อาจไม่สำเร็จเหตุการพิสูจน์ความเป็นนายจ้างลูกจ้าง กำหนดต้องทำงาน 6 เดือนขึ้นไป คาดไม่พ้นส่วย ด้านแรงงานโต้เป็นการเข้าใจผิด ให้สิทธิแรงงานที่เข้ามาก่อน 23 มิย.2560 เท่านั้น
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริม คุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) ไลฟ์สดผ่านเฟชบุ๊คส่วนตัวชื่อ Sompong Srakaew เมื่อวันที่ 20 ก.ค.60 เวลา 21.29 น.ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า แม้ช่วงนี้กระทรวงแรงงานจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทั่วประเทศกว่า 101 ศูนย์เพื่อรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวในกลุ่มที่ไม่มีเอกสารใดๆเข้าสู่ระบบ ตามประกาศกระทรวงเรื่องการกำหนด หลักเกณฑ์เงื่อนไข การขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และทางเจ้าหน้าที่พยายามทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้กับนายจ้าง ผู้ประกอบการ และแรงงานทั่วประเทศ แต่ยังพบนายจ้างและแรงงาน ในหลายพื้นที่ยังไม่เข้าใจและสับสนข้อมูลที่ได้รับ เช่นเดียวกับนายจ้างและแรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากขั้นตอนการขึ้นทะเบียนในรอบนี้มีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่าการขึ้นทะเบียนในรอบ ที่ผ่านมา
ขณะที่ ขั้นตอนการพิสูจน์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างที่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นลูกจ้างนายจ้างกันไม่น้อยกว่า6 เดือนมีเอกสารการรับเงินเดือนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความสัมพันธ์ถือว่าไม่เหมาะสมเพราะเนื่องจากที่ผ่านมาทางการได้กวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาตลอดซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่านายจ้างจะมีแรงงานต่างด้าวทำงานนานถึง 6 เดือน โดยเงื่อนไขดังกล่าวถือเป็นความยากลำบากในการดำเนินการและเป็นอุปสรรคที่มีความซับซ้อนหากไม่ปลดล็อคให้แรงงานใหม่สามารถขึ้นทะเบียนในรอบนี้ได้ มองว่าน่าจะเป็นปัญหาหนักเพราะจะไม่มีนายจ้างนำแรงงานมาแจ้งการทำงานกับกระทรวงแรงงาน เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานไม่ถึง 6 เดือน
อีกทั้งการพิจารณาความสัมพันธ์ ถือเป็นการตัดสินโดยใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นหลักแน่นอนว่าอาจไม่พ้นเรื่องของเงินใต้โต๊ะ และการทำเอกสารปลอมเพื่อแลกกับการรับรองความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้น หากกระทรวงแรงงาน กำหนดกฎเกณฑ์การพิสูจน์ความสัมพันธ์ ไม่ชัดเจนและไม่มีมาตรฐาน จะยิ่งนำไปสู่ปัญหามากขึ้น
ด้านนายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องการพิสูจน์ความสัมพันธ์ที่ใช้หลักเกณฑ์การทำงานไม่น้อยกว่าหกเดือนไม่เป็นความจริง โดยกระทรวงแรงงานจะทำการพิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นลูกจ้างนายจ้างโดยใช้หลักการเบื้องต้น คือจะต้องเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานกับนายจ้างก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เท่านั้น ส่วนจะทำงานด้วยเป็นเวลาเท่าไหร่นั้น ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่จะเจ้าหน้าที่จะให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งนอกจากจะเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานก่อนวันที่ 23 มิถุนายนแล้ว นายจ้างจะต้องนำลูกจ้าง และเอกสารสำคัญในการแสดงความเป็นลูกจ้างนายจ้าง เช่น สลิปเงินเดือนมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ในวันนัดด้วย แม้การพิสูจน์จะเป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ทั้งหมดเพราะกระทรวงได้มีข้อกำหนดเงื่อนไขการเป็นลูกจ้างนายจ้าง แบบเช็คลิส ที่มีความน่าเชื่อถือเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการพิสูจน์ความเป็นลูกจ้างนายจ้างมีจุดประสงค์สำคัญคือจะดูว่าแรงงานเป็นแรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือทำงานในสถานที่ทำงานที่ห้ามทำ อย่าง สถานบันเทิง ร้านขายสุราหรือไม่ ซึ่งเมื่อผ่านการพิสูจน์แล้ว เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารรับรองการออกนอกเขตพื้นที่ซึ่งมีรูปถ่ายของแรงงานติดอยู่ให้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ในการเดินเข้าออกประเทศในการตรวจพิสูจน์สัญชาติต่อไป โดยจะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมเด็ดขาด ทั้งนี้หากพบว่ามีแรงงานต่างด้าวถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินสามารถร้องเรียนได้ที่กระทรวงแรงงานหรือสายด่วน 1694 เพื่อดำเนินคดีทางอาญาและเอาผิดทางวินัยขั้นสูงสุดกับเจ้าหน้าที่ที่เรียกเก็บเงินทันที .-สำนักข่าวไทย