ญี่ปุ่น 18 ธ.ค.-นายกฯ เผย “ฮุน มาเนต” เตรียมเยือนไทย ก.พ.67 ประชุมย่อย ครม.เศรษฐกิจร่วมกัน ตั้งเป้าการค้าชายแดน บอกไทยมีความพร้อมท่าเรือน้ำลึก-สนามบิน ด้าน “พานาโซนิค” เล็งใช้พื้นที่ไทย 600 ไร่สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่
เมื่อเวลา 14.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีได้พบกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่า ได้พูดคุยถึงพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดหลัก ที่ตนเพิ่งไปลงพื้นที่มา ซึ่งเห็นว่านิคมอุตสาหกรรมและการค้าชายแดนยังสามารถยกระดับได้อีก โดยในเดือนก.พ. 2567 สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะมาเยือนประเทศไทย จากนั้นจะมีการประชุมย่อยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจร่วมกันเกี่ยวกับการค้าชายแดน เพราะเรามีความพร้อมเรื่องการจัดส่งสินค้า
“หากกัมพูชามีแผนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วติดต่อการค้า การที่เขามาก็จะดีกับทั้งภูมิภาค เพราะไทยมีท่าเรือน้ำลึกและสนามบินที่พร้อม มีพลังงานสะอาดที่พร้อม น่าจะทำอะไรร่วมกันได้ เพื่อเสริมสร้างซึ่งกันและกัน และอีก 10 ปีข้างหน้า อาเซียนเราจะเป็นเบอร์ 3 ของโลก การที่เรารวมตัวกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจะเอื้อต่อธุรกิจได้อีกเยอะมาก และตนเองกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็พูดคุยกันได้ด้วยดี มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษจะพูดอะไรก็ง่ายขึ้น” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการพูดคุยกับบริษัทพานาโซนิค ซึ่งเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่และทำเรื่องของแบตเตอรี่ ให้กับบริษัทเทสล่าด้วย
“ขณะนี้เขากำลังดูสถานที่ที่จะทำโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่ 600 ไร่ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน เป้าหมาย ซึ่งเขายังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะต้องดูแผนระยะยาว แต่เขาลงทุนที่ประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1961 ก่อนที่ตนจะเกิดอีก จึงถือว่ามีความผูกพันกับประเทศไทย ซึ่งผู้บริหารเบอร์สองของเขาก็อยู่ในเมืองไทยมาตลอด ยิ่งตอกย้ำว่าผู้บริหารบริษัทระดับสูงของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เคยผ่านงานที่ประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้ เรื่องใจถึงใจเรื่องที่เขาอาจจะลำเอียง อยากมาลงทุนตนเชื่อว่าเป็นธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครดิตของคนไทยที่ต้อนรับอาคันตุกะทุกอาชีพด้วยใจจริง”นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งานที่เราทำมาทั้งหมดในการเดินทางมาครั้งนี้ ไม่ใช่ผลงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่บีโอไอญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ตนมาต่อเครื่องที่ประเทศญี่ปุ่น บีโอไอที่ญี่ปุ่นเป็นคนจุดประกาย ว่า ญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงเรื่องอะไร ตนรับโจทย์ไปและจัดการในทุกเรื่อง ซึ่งเรามาถึงที่นี่ก็ง่าย เพียงแค่ยิ้มแย้มแจ่มใสและพยักหน้า ตนถือว่าครั้งนี้ประสบความสำเร็จมาก.-316.-สำนักข่าวไทย