รัฐสภา 10 ธ.ค. – ทายาท “ปรีดี พนมยงค์” ร่ายปฐมรัฐธรรมนูญ ชี้เจตจำนงสำคัญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน มองรัฐธรรมนูญ 2490 โดยคณะรัฐประหาร ต้นเหตุประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ
นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ ทายาทของ “ปรีดี พนมยงค์” อดีตนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในคณะราษฎร 2475 กล่าวถึงความมุ่งหมายและเจตจำนงของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ว่า หากจะกล่าวถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ คงต้องกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือจะเรียกให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ คือ “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” หรือ Constitutional Monarchy
นายปรีดิวิชญ์ กล่าวถึงขั้นตอนในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากสมเด็จพระปกเกล้าฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ ตามลำดับขั้น คือ วันที่ 26 มิ.ย. คณะราษฎรนำร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อทรงรับไว้พิจารณา
จากนั้นในวันที่ 27 มิ.ย. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยขอให้ใช้คำว่า “ชั่วคราว” ไปก่อน แล้วจึงเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นใช้ต่อไป
โดยที่คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน และมีเพียงนายปรีดี พนมยงค์ เพียงคนเดียวที่เป็นอนุกรรมการฯ สัดส่วนคณะราษฎร ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 โดยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงติดตามอย่างใกล้ชิด และพระราชทานข้อเสนอแนะ จนเป็นที่น่าพอใจ
นายปรีดิวิชญ์ กล่าวอีกว่า ยังมีหลายคนเข้าใจความมุ่งหมายการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผิด จึงขอทำความเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองโดยราษฎร ดังปรากฏความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ คณะราษฎร 2475 ได้ยึดหลักประกาศ 6 ประการ เพื่อเป็นปฏิญญาพัฒนาชาติไทย ได้แก่ หลักเอกราช ความปลอดภัย ความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา จึงขอให้ทุกคนเข้าใจว่า เป็นธรรมดาที่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลชั่วคราวที่จะต้องเปลี่ยนระบบเก่าที่มีมาอย่างช้านาน ให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่นั้น จะต้องมีการดำเนินการไปทีละขั้น ไม่ใช่มีการสถาปนาแล้วจะสามารถทำให้สมบูรณ์ได้
ต่อมานายปรีดี และคณะราษฎรได้พยายามผลักดันให้เกิดสิทธิประชาธิปไตยอย่างเต็มที่แก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบผลสำเร็จในรัฐธรรมนูญ ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญในการรับรองสิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากที่สุดฉบับหนึ่ง แต่กลับมีผลบังคับใช้ในระยะสั้น เนื่องจากมีการถูกยกเลิก พร้อมถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับของคณะรัฐประหาร ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 หรือเรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม
นายปรีดีวิชญ์ กล่าวว่า นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนที่เป็นในปัจจุบัน และขอยกคำสอนของนายปรีดี ในงานเขียนชิ้นหนึ่งที่กล่าวว่า “ชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ควรนำรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาเทียบกันดูให้ถี่ถ้วน ว่าระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีความเป็นประชาธิปไตยในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย จริงหรือไม่เพียงใด ขอให้ทุกท่านได้พิจารณา เพื่อจะได้เข้าใจถึงปัญหาและพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย”
นายปรีดิวิชญ์ ยังกล่าวว่า ในฐานะทายาทและประชาชนคนหนึ่ง อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในปัจจุบันเคารพเจตจำนงของปฐมรัฐธรรมนูญ ในการสถาปนากฎหมายสูงสุดที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างเท่าเทียมกัน และผลักดันให้เกิดการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง.-314-สำนักข่าวไทย