6 ธันวาคม 2566 – ตามที่มีการแชร์เกี่ยวกับคำเตือนอาหารปลอมเอาไว้มากมาย ทั้งให้ระวังสาหร่ายที่ทำมาจากถุงดำ อีกทั้งยังมีเนื้อปลอม ไข่ปลอม และข้าวสารปลอมจากพลาสติกอีกด้วย ?! เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ พบคำตอบได้ที่ชัวร์ก่อนแชร์ CHECK-LIST ร้อยเรียงเรื่องฮิต ติดอันดับจากชัวร์ก่อนแชร์
อันดับที่ 1 : คลิปเตือน เนื้อปลาปลอม จริงหรือ ?
มีการแชร์คลิปเตือนให้ระวังเนื้อปลาปลอม มีวางขายตามท้องตลาดแล้ว
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
“ในคลิปไม่ใช่ปลาปลอม แต่เป็นปลาแช่แข็งที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้เนื้อปลาแห้งคล้ายฟองน้ำหรือพลาสติก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากบริเวณเนื้อปลาสัมผัสกับความเย็นมากเกินไป ทำให้ผิวปลาหยาบกระด้าง แผ่นหนังของปลาจะแข็งเพราะความเย็นจะดูดน้ำออก
ทั้งนี้ ปลาแช่แข็งที่วางจำหน่ายจะแช่แข็งด้วยกรรมวิธี Quick Freezing (การแช่เยือกแข็งแบบเร็ว) มีการกำหนดอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ทำให้โปรตีนในเนื้อสัตว์แปรสภาพไปมากนัก บางครั้งโรงงานผลิตจะเติมสารป้องกันการแข็งตัวของน้ำแข็งไม่ให้มีขนาดใหญ่มากเกินไป จึงยังคงสภาพเนื้อสัตว์ได้ดี
ข้อปฏิบัติสำหรับซื้อปลามาแช่แข็ง ต้องใส่เนื้อปลาในถุงหรือภาชนะที่ถูกอากาศน้อยที่สุด, หั่นปลาชิ้นไม่ใหญ่เกินไปเพื่อให้เย็นเร็วขึ้น, ไม่ควรแช่แข็งไว้นานเกิน 2 เดือน ก่อนนำมาปรุงอาหารควรละลายน้ำแข็งทิ้งไว้ในช่องธรรมดาก่อน 1 คืน เพื่อไม่ให้เนื้อปลาเปลี่ยนสภาพมากเกินไป แต่ห้ามแช่น้ำร้อน”
อันดับที่ 2 : สาหร่ายปลอมทำจากถุงดำ จริงหรือ ?
มีการแชร์คลิปเตือนให้ระวังสาหร่ายแห้งยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งทำจากถุงพลาสติก หรือถุงยางอนามัยนั้น
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
และ คุณจารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผอ.สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
“สาหร่ายที่ปรากฏในภาพที่แชร์หักและฉีกขาดง่าย จึงไม่ใช่ของปลอม นอกจากนี้เมื่อแช่น้ำแล้วสาหร่ายจะนิ่มต่างจากพลาสติกที่ยังแข็ง สาหร่ายยังมีกลิ่นคาวเฉพาะตัว ผิดกับถุงดำที่แช่น้ำแล้วไม่เปลี่ยนสภาพ”
อันดับที่ 3 : คลิปผลิตข้าวสารปลอม จริงหรือ ?
มีการแชร์คลิปเตือนให้ระวังข้าวสารปลอมผลิตจากพลาสติก
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : คุณสุภาพร วิจิตขะจี กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยมังกรพลาสติก อุตสาหกรรม จำกัด
“คลิปดังกล่าวไม่ใช่การผลิตข้าวสารปลอม แต่เป็นเครื่องผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หากเทียบราคาการผลิตเม็ดพลาสติกมีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตข้าว”
อันดับที่ 4 : คลิปเตือนไข่ปลอม จริงหรือ ?
มีการแชร์คลิปเตือนให้ระวังไข่ปลอมระบาดหนัก มีทั้งไข่เป็ด ไข่ไก่ ตอกออกมาให้ดูกันชัด ๆ
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : น.สพ.ดร.กิตติ ทรัพย์ชูกุล อุปนายกสัตวแพทยสภาคนที่ 1 สัตวแพทยสภา
“ไข่ที่เห็นในคลิปที่แชร์กันนั้น เป็นไข่ด้อยคุณภาพไม่ใช่ใข่ปลอม ดังนั้นจึงไม่ควรแชร์ต่อเพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด”
อันดับที่ 5 : คลิปการผลิตเนื้อปลอม จริงหรือ ?
มีการแชร์คลิปเตือนให้ระวังเนื้อปลอมระบาดหนัก โดยมีคลิปหลักฐานชัดขณะกำลังผลิต เนื้อปลอมติดมันส่งร้านเนื้อย่าง
บทสรุป : ไม่จริง ไม่ควรแชร์ ❌
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ : นายปภัส กิจกำจาย ผู้บริหาร บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด
และ ผศ.ดร.กนกทิพย์ บุญเกิด ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“คลิปที่แชร์กันเป็นกระบวนการหนึ่งในการการเตรียมผลิตภัณฑ์ยาง ไม่ใช่การผลิตเนื้อแต่อย่างใด เครื่องที่เห็นในคลิปเรียกว่าเครื่อง Two Roll Mill ไว้สำหรับผสมส่วนผสมทางเคมีต่างๆ ให้เข้าเนื้อกันได้ดีขึ้น”
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter