กรุงเทพฯ 20 พ.ย.- สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5 แรงส่งหนุนปี 67 ขยายตัวร้อยละ 3.5 แนะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ขยายตลาดส่งออก สำคัญกว่าการบริโภคในประเทศ ลุ้นกฤษฎีกา พิจารณากู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สภาพัฒน์ ปรับคาดการณ์จีดีพีในปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากเดิมร้อยละ 2.5-3 นับว่าขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 2.6 ในปี 65 คาดอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ร้อยละ 1.4 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะ ณ ก.ย. 66 ร้อยละ 62.1 ของจีดีพี
สภาพัฒน์ ยอมรับว่า การประเมินจีดีพีในปี 67 ยังไม่คำนวณข้อมูลจากโครงการโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เพราะต้องรอดูความชัดเจนผลการพิจารณาของกฤษฎีกา จากแผนกู้เงินผ่าน พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยมองว่า การกระตุ้นเศษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนในช่วงนี้ ควรปรับโครงสร้างภาคการผลิตและอุตสาหกรรม การขยายตลาดส่งออก เนื่องจากไทยพึ่งพาจากทั้งสองปัจจัยเป็นหลัก เพราะมองว่าการกระตุ้นการบริโภค ด้วยการใช้เงินดิจิทัลกระตุ้นการใช้จ่าย อาจหมดแรงส่งได้ และการโอนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องมีเงินหนุนหลังในจำนวนเท่ากับจำนวนที่ใช้จ่ายออกไป จึงต้องลุ้นว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร จึงไม่ได้รวมข้อมูลดังกล่าวในคาดการณ์จีดีพีปี 67
ด้านการท่องเที่ยว มองว่าในช่วงไตรมาส 4 ช่วงไฮซีซั่น คาดว่านักท่องเที่ยวยุโรป จะเข้ามาจำนวนมาก หลังจากมาเลเซีย เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักเดินทางเข้าไทย แต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอาศัยและใช้เงินท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในปีนี้ 3 ล้านคน จากเดิม 5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 7 ล้านคนในปี 67 โดยมองว่านโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตามที่นายกรัฐมนตรีเตรียมประกาศในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ จะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนยังสูงถึงร้อยละ 90.7 ของจีดีพี รวมถึงการช่วยเหลือด้านทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอี
ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 คาดการณ์จีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.2 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.8 จากเดิมลดลงร้อยละ 2.6 ในปี 66 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.7-2.7 จึงเสนอให้รัฐบาลมุ่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกไปยังประเทศมีศักยภาพ ในวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมฑูตพาณิชย์จากทั่วโลก มองว่าจะเป็นการร่วมหาตลาด เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงกรณีนายกรัฐมนตรีโรดโชว์ดึงการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ จะเป็นอีกปัจจัย ส่งเสริมให้การลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น สำนักงบประมาณจัดเตรียมแผนให้หัวหน้าส่วนราชการ จัดเตรียมขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เมื่องบประมาณผ่านสภา จะได้ทำสัญญาได้ทันที เริ่มใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายนปี 67 จะได้เริ่มเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อเร่งรัดการใช้เงินด้านงบลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายร้อยละ 90.4
การเตรียมแผนรองรับปัญหาภัยแล้งจากเอลนิญโญ่ หลังจากหลายหน่วยงานคาดการณ์ ส่งผลกระทบหนักต่อเกษตรกร รัฐบาลยังต้องเตรียมแผนหารายได้เพิ่ม สร้างความมั่นคงทางการคลัง รองรับความเสี่ยงในอนาคต ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การลดสร้างภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการแนะให้ประชาชนปรับตัวรองรับปัญหาพลังงานปรับสูงขึ้น จีดีพีของไทย หากไม่ทำอะไรเพิ่มเติมจะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพประมาณร้อยละ 3 ดังนั้น จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคการผลิต ขยายฐานการส่งออก
สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3 ปี 66 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก เพราะการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.1 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.5 เพราะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 ขณะที่การลงทุนภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า จึงหดตัวร้อยละ -2.6 จากปัจจัยจากต่างประเทศ จากการส่งออกหดตัวต่อกัน 4 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปีก่อน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศชะลอตัว การบริโภครัฐบาลน้อยหดตัวร้อยละ -4.9 ทำให้ช่วง 9 เดือนแรก จีดีพีขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 นับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย